posttoday

จักรวรรดิใหม่ วันเบลต์วันโรด

24 พฤษภาคม 2560

จีนถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และจากอัตราการเติบโตของจีดีพีในปัจจุบัน จีนจะแซงหน้าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาภายในเวลาเพียง 10 ปี

โดย...ดร.การดี เลียวไพโรจน์

จีนถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และจากอัตราการเติบโตของจีดีพีในปัจจุบัน จีนจะแซงหน้าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาภายในเวลาเพียง 10 ปี

ขั้วเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ในขณะที่สหรัฐอเมริกาประกาศนโยบายแบบมองเข้าข้างใน หรืออินวาร์ด ลุคกิ้ง (Inward Looking) เพื่อให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งในแบบของทรัมป์ จีนก็เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับนานาชาติสวนทางกับสหรัฐโดยสิ้นเชิง กับโครงการยักษ์วันเบลต์วันโรด “One Belt One Road” (OBOR)

โดยประกาศว่าจะทำให้จีนและเพื่อนพันธมิตรกลับมายิ่งใหญ่เข้มแข็งร่วมกัน เปรียบเหมือนกับ “ทฤษฎีฝูงห่าน” ที่อยู่ร่วมกัน ผลัดกันนำและผลัดกันตาม จะทำให้ทั้งฝูงบินไปได้เร็วและไกลกว่า

แต่ใครจะเชื่อว่าจีนจะยอมให้ห่านตัวอื่นๆ ขึ้นมานำได้

จีนกำลังสร้างจักรวรรดิใหม่จากเบลต์แอนด์โรดซัมมิต 2017 (Belt and Road Summit 2017) ที่จัดขึ้นครั้งแรก ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นับว่าเป็นการแสดงแสนยานุภาพในการรวบรวมพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่ทั้งโลกจับตามอง โดยมีผู้นำประเทศและผู้บริหารประเทศระดับสูงราว 60 ประเทศเข้าร่วม
การสัมมนาครั้งนี้

รวมถึงผู้นำของประเทศอาเซียนทั้งหมด 9 ประเทศ ยกเว้นประเทศบรูไน

อินเดียยังลังเลกับ OBOR เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์คาดการณ์ว่าหากจีนและอินเดียร่วมมือกัน หรือที่เรียกกลุ่มประเทศใหม่ว่า Chindia จะทำให้ขั้วเศรษฐกิจโลกมาทางตะวันออกอย่างสิ้นเชิง แต่การร่วมมือระหว่างสองประเทศนี้ก็ไม่ราบรื่น

อินเดียเองมีนโยบาย ลุค อีสต์-แอ็ก อีสต์ (Look East-Act East) ที่ต้องการขยายการค้าสู่อาเซียนและกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก การร่วมลงทุนสร้างถนนเชื่อมจากอินเดียสู่อาเซียน ทำให้อินเดียลังเลที่จะเข้าร่วมกับ OBOR โดยเห็นว่าโครงการนี้เป็นการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจของจีนอีกรูปแบบหนึ่ง

แล้วบทบาทอาเซียนเป็นอย่างไร

แม้ว่า OBOR จะเป็นการ “แย่งซีน” อาเซียนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปีนี้ที่เป็นปีครบรอบ 50  ปีของอาเซียน แต่โดยภาพรวมมุมมองของผู้นำอาเซียนกับ OBOR เป็นแบบมุมบวก และจะเข้าร่วมกับ OBOR อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งจะมีการลงทุนมหาศาล เงินทุนไหลเข้า มีการจ้างงาน จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น

อาเซียนยังมองอีกว่า OBOR จะช่วยผลักดันให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายอาเซียน คอมมูนิตี้ วิชั่น 2015 (ASEAN Community Vision 2025) ได้เร็วขึ้น

โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ แสดงบทบาทที่ดีกับจีนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ OBOR แม้ว่ากำลังมีข้อพิพาททะเลจีนใต้อยู่ ณ ตอนนี้ก็ตาม

อาเซียนจะได้ระยะสั้น แต่หากไม่ระวังจะพังระยะยาว สิ่งที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงคือ ผลกระทบทางสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นได้หากไม่มีการวางแผนอย่างรอบคอบ

ไม่ว่าการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของภูมิภาค และแม้ว่าการลงทุนจะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น แต่การเข้าถึงโอกาสของอาเซียนยังไม่เท่าเทียมกัน และยังมีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งจะสร้างปัญหาต่อเนื่องสู่ปัญหาสังคม สิทธิมนุษยชนที่เป็นปัญหาหนักของอาเซียนอยู่แล้ว

รวมทั้งความเป็นไปได้ในการที่ประเทศยากจนในอาเซียนจะโดนบีบบังคับทางเศรษฐกิจจากจีน ที่อาจส่งผลเชื่อมโยงไปสู่การตัดสินใจต่อเวทีการเมืองในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

รวมทั้งความมั่นคงของประเทศ