posttoday

ผลไม้ไทยในอินเดีย(1)

09 กันยายน 2559

ผมเขียนบทความที่โรงแรม Jaypee Vasant Continental กรุงนิวเดลี เพราะระหว่างวันที่ 16-20 ส.ค. 2559

โดย...ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช

ผมเขียนบทความที่โรงแรม Jaypee Vasant Continental กรุงนิวเดลี เพราะระหว่างวันที่ 16-20 ส.ค. 2559 ผมร่วมเดินทางไปกับกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ เพื่อไปหาโอกาส และช่องทางการจำหน่ายผลไม้ไทยในตลาดอินเดีย ภารกิจครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการ “โครงการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สู่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านและกิจกรรมศึกษาความต้องการสินค้าเกษตรของตลาด” โดยเลือกพื้นที่เป้าหมาย คือ เมืองหลวงนิวเดลี

ปัจจุบันผลไม้ไทยกำลังทำ “ตลาดทางเดียว” คือขายแต่ตลาดจีนจนเกิด “ล้งจีน” เข้ามาดำเนินธุรกิจผลไม้ในหลายๆ ขั้นตอนของการส่งออกผลไม้ไทย ช่วงหลายปีที่ผ่านมาผลไม้ไทยไม่ไปมองหาตลาดอื่นๆ เลย การเดินทางครั้งนี้จึงมีภารกิจที่สำคัญที่ต้องนำผลไม้ไทยมาเจาะตลาดอินเดีย เพราะเป็นตลาดใหญ่ เศรษฐกิจกำลังโตวันโตคืนจีดีพีปี 2559 โดยไอเอ็มเอฟคาดว่าจะโต 7.5% และ 7.8% ในปี 2560

เป็นเพราะการบริหารงานของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี้ ที่มีนโยบายสำคัญ คือ “เมด อิน อินเดีย” เพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หันมาลงทุนในอินเดีย และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับสินค้าที่ผลิตในอินเดียให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก เพื่อหวังยกระดับประเทศให้เป็น “ศูนย์กลางการผลิตสินค้าของโลก” นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดทำ “สมาร์ท ซิตี้” จำนวน 100 เมืองในอินเดีย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขการคัดเลือกเมืองที่สามารถเข้าร่วมโครงการ เช่น ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน รูปแบบอาคาร สภาพแวดล้อม (กรีน ซิตี้) มีเมืองที่ผ่านเงื่อนไขจำนวน 90 เมือง (ในปัจจุบัน) โดยรัฐจะให้เงินสนับสนุนในการพัฒนาเมืองเพิ่มเติม

ทริปนี้ เราได้นำนักธุรกิจและสหกรณ์ผลไม้ไทยมาด้วย ประกอบด้วยองค์กรการเกษตร 2 องค์กร คือ 1.สหกรณ์การเกษตรจังหวัดตราด และกลุ่มเกษตรกรผลไม้ออร์แกนิกจังหวัดราชบุรี 2.กลุ่มบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจผลไม้ส่งออก แต่ผมขอเริ่มจากมูลค่าการนำเข้าผลไม้ของอินเดียว่าเป็นอย่างไร พบว่าในปี 2558 อินเดียมีการนำเข้าผลไม้จากทั่วโลก 3.049 พันล้านเหรียญ หรือเท่ากับ 106,715 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2554 ที่อยู่ที่ 73,360 ล้านบาท ส่วนใหญ่นำเข้าจากอเมริกาสัดส่วน 22% ได้แก่ การนำเข้าถั่วประเภทต่างๆ คิดเป็น 81% ของการนำเข้าจากอเมริกาทั้งหมด (ส่วนใหญ่เป็นถั่วอัลมอนด์) และ 14% เป็นโกตดิวัวร์  ส่วนใหญ่เป็นมะพร้าวสดและผลิตภัณฑ์มะพร้าวคิดเป็น 99% และอันดับสาม เป็นการนำเข้าจากประเทศแทนซาเนีย 6.7% สินค้าส่วนใหญ่เป็นยังเป็นมะพร้าว

สำหรับประเทศในอาเซียน อินเดียนำเข้าผลไม้จากประเทศอินโดนีเซียคิดเป็น 56% เป็นมะพร้าว ตามด้วย 20% จากประเทศเมียนมาซึ่งเป็นถั่ว และเวียดนาม 17% เป็นมะพร้าวสด และตามด้วยไทยเป็นอันดับที่สี่ของอาเซียน คิดเป็น 4.8% ส่วนใหญ่เป็นมะขาม มังคุค และฝรั่ง อย่างไรก็ตามก่อนปี 2556 นั้น ประเทศที่อินเดียนำเข้าผลไม้อันดับต้นคือ จีน สหรัฐ ไทยอยู่อันดับที่ 8 และเป็นอันดับ 4 ของประเทศอาเซียน

ต่อฉบับหน้านะครับ