posttoday

บรูไนหนึ่งในอาเซียน ผู้ส่งออกหลักน้ำมัน

06 กันยายน 2559

บรูไนเป็นประเทศเล็ก ระบบเศรษฐกิจค่อนข้างมีเสถียรภาพ และมีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป

โดย...กลุ่มงานยุทธศาสตร์ภูมิภาคอาเซียนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

บรูไนเป็นประเทศเล็ก ระบบเศรษฐกิจค่อนข้างมีเสถียรภาพ และมีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เน้นพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้ปรับนโยบายเน้นสร้างความหลากหลาย

โดยเฉพาะทางเกษตรกรรม ไม่เน้นการส่งออกสินค้าสำเร็จรูป ไม่มีตลาดหลักทรัพย์ฯ เงินลงทุนจากต่างประเทศมีปริมาณไม่มากนัก

บรูไนจะกำหนดมาตรการทางการเงินการคลังที่ค่อนข้างเข้มงวด เน้นระบบเศรษฐกิจที่ปลอดภัยและมั่นคงเป็นปึกแผ่น แต่ก็พร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้บรูไนยืนยันพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามข้อมติต่างๆ ของอาเซียน

ทั้งการพัฒนาตลาดเงินทุนและระบบการเงินให้ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนด้านเศรษฐกิจ (ASEAN Economic Community) ในปี 2015

หน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายการเงินการคลังของบรูไน คือ Brunei Currency and Monetary Board (BCMB)

BCMB เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลังของบรูไน ก่อตั้งขึ้นในปี 2510 ซึ่งเป็นช่วงที่บรูไนยังมีสถานะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของประเทศอังกฤษ (British Protectorate) และในปีดังกล่าว รัฐบาลบรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ได้ลงนามร่วมกันในข้อตกลงแลกเปลี่ยนอัตราค่าเงิน (Currency Interchangeability Agreement-CIA)

ต่อมาในปี 2514 มาเลเซียได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าวไป จึงเหลือเพียงสิงคโปร์และบรูไน โดยทั้งสองประเทศได้กำหนดให้อัตราค่าเงินเหรียญบรูไน (BND) และเหรียญสิงคโปร์ (SGD) มีค่าเท่ากันที่ 1 ต่อ 1 ซึ่งเป็นไปในแนวทางที่คล้ายคลึงกับการกำหนดค่าเงินเหรียญฮ่องกง (HKD) กับเหรียญสหรัฐ (USD) ไว้ประมาณ 1.7-1.8 ต่อ 1

ในปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของบรูไนจึงผูกอยู่กับเศรษฐกิจของสิงคโปร์อย่างแนบแน่น ตราบใดที่เศรษฐกิจของสิงคโปร์ยังมั่นคง บรูไนก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างราบรื่น

หน้าที่หลักของ BCMB คือการรักษาเสถียรภาพค่าเงินเหรียญบรูไน โดยกำหนดว่าหากมีการผลิตเงิน 1 เหรียญบรูไน เพื่อหมุนเวียนในตลาด บรูไนจะต้องนำเงินไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศในมูลค่าที่เท่ากัน เพื่อเป็นการค้ำประกัน

ที่ผ่านมาบรูไนสามารถรักษาอัตราเงินเฟ้อในประเทศให้อยู่ในช่วง 1-1.5% ได้มาโดยตลอด

นอกจากนี้ BCMB มีมาตรการที่เข้มแข็งในการดูแลสถาบันการเงินการธนาคารในบรูไน ซึ่งประกอบด้วยธนาคารท้องถิ่น 2 แห่ง คือ Baiduri Bank และ TAIB ธนาคารต่างชาติ 6 แห่ง คือ HSBC, Standard Chartered, UOB, Citibank, MAYBANK (มาเลเซีย) และ RHB (มาเลเซีย)

ในด้านการลงทุน BCMB จะมีบทบาทเสริมการทำงานของ Brunei Financial Center ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลด้านการลงทุนหลัก โดย BCMB จะช่วยพิจารณาการลงทุนที่สำคัญๆ รวมทั้งการนำเข้าสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีพ ได้แก่ อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งวัตถุดิบ การบริการ ฯลฯ