posttoday

แนวโน้มการโค้ช

21 กรกฎาคม 2559

ปัจจุบันองค์กรมากมายเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาบุคลากรแบบดั้งเดิม มาผสมผสานใช้การโค้ช

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

ปัจจุบันองค์กรมากมายเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาบุคลากรแบบดั้งเดิม มาผสมผสานใช้การโค้ช โดยเฉพาะเมื่อมีผลจากการศึกษาที่สนับสนุนให้เห็นว่าองค์กรที่มีวัฒนธรรมการโค้ชที่ดี มีผลลัพธ์ด้านความผูกพันของบุคลากรที่มีต่อองค์กรและผลลัพธ์ด้านรายได้ที่สูงกว่า

สหพันธ์โค้ชนานาชาติ (International Coach Federation) มีการศึกษาแนวโน้มต่างๆ ของการโค้ชอย่างต่อเนื่อง ปีที่แล้ว (ปี 2015) ได้พบว่า 67% ขององค์กรที่มีวัฒนธรรมการโค้ชที่ดีแล้ว มีการใช้การโค้ชทั้งสามรูปแบบ คือ หนึ่ง ใช้โค้ชมืออาชีพจากภายนอก สอง สร้างโค้ชที่เชี่ยวชาญสำหรับภายในองค์กร และสาม พัฒนาทักษะการโค้ชให้ผู้บริหารและผู้จัดการในองค์กร เมื่อเปรียบเทียบปี 2014 กับปี 2015 ยังได้พบด้วยว่ามีการเจริญเติบโตต่อเนื่องในการใช้การโค้ชทั้งสามรูปแบบในองค์กร

จากการสำรวจล่าสุดในปีนี้ (ค.ศ. 2016) ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจ สำหรับรูปแบบที่สาม คือผู้บริหารและผู้จัดการที่ใช้การโค้ชกับผู้ใต้บังคับบัญชาหรือทีมงาน ผลชี้ว่า 76% ของผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจ รายงานว่า ใช้ความรู้ ทักษะและวิธีการโค้ชกับทีม และกลุ่มงาน 64% นำการโค้ชไปใช้กับกลุ่มบุคลากรที่มีศักยภาพสูง สำหรับการพัฒนาให้ผู้บริหารและผู้จัดการมีทักษะและวิธีการโค้ช 73% ระบุว่า ได้รับการอบรมจากหลักสูตรการโค้ชที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน

ผู้บริหารหญิงมีการโค้ชผู้ใต้บังคับบัญชา 64% ซึ่งสูงกว่าผู้บริหารชายอยู่ที่ 34% เมื่อดูที่ระดับการศึกษาพบว่า 61% มีระดับการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และเมื่อดูตามทวีป ทวีปที่ผู้บริหารใช้ทักษะการโค้ชกับผู้ใต้บังคับบัญชาหรือทีมงานมากที่สุดคือ ทวีปอเมริกาเหนือ (33%) รองลงมาคือ ทวีปยุโรป (27%) และสำหรับในเอเชียอยู่ที่ 18% (ข้อมูลเพิ่มเติม : coachfederation.org/2016study)

แดเนียล โกลด์แมน นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงและผู้เขียนหนังสือโด่งดังคือ Emotional Intelligence ได้กล่าวถึงสไตล์ผู้นำที่สำคัญหกสไตล์ และผู้นำสไตล์โค้ชส่งผลเชิงบวกต่อผลงานและบรรยากาศการทำงาน แต่กลับเป็นสไตล์ที่ได้รับการนำมาใช้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสไตล์อื่นๆ

ถึงแม้องค์กรส่วนใหญ่จะตระหนักในความสำคัญของการส่งเสริมให้ผู้บริหารและผู้จัดการใช้การโค้ชในทีมงานก็ตาม แต่สำหรับผู้บริหารเอง มีไม่น้อยเลยที่เผชิญกับอุปสรรคของการนำทักษะมาใช้ในการทำงานจริง การพัฒนาให้ผู้บริหารและผู้จัดการเป็นโค้ชที่ดีนั้น หลังจากพัฒนาทักษะไปแล้ว ผู้สอนจึงควรติดตามให้การสนับสนุนต่อเนื่อง และอาจต้องใช้กระบวนการปรับเปลี่ยนอุปนิสัยเข้ามาช่วยด้วย &O5532;