posttoday

จัดการกับคนคุยยาก (1)

23 มิถุนายน 2559

ในการบริหารคนที่มีความแตกต่าง การพูดคุยภาษาเดียวกันก็ยังเกิดความไม่เข้าใจกันได้ เมื่อเป็นการสื่อสารของผู้ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ยิ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งขึ้น

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

ในการบริหารคนที่มีความแตกต่าง การพูดคุยภาษาเดียวกันก็ยังเกิดความไม่เข้าใจกันได้ เมื่อเป็นการสื่อสารของผู้ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ยิ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งขึ้น

โดยปกติเมื่อเกิดความขัดแย้ง บางคนอาจเผชิญหน้าเพื่อสร้างความเข้าใจ บางคนก็อาจหลีกเลี่ยงด้วยความกังวลหลายอย่าง เช่น ไม่อยากทำให้สถานการณ์แย่ลง เกรงว่าจะได้ยินสิ่งที่ตนเองไม่อยากได้ยิน เกรงว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะควบคุมอารมณ์ไม่ได้

โดยเฉพาะหากรู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นคนคุยยาก ยิ่งทำให้เราไม่อยากสานต่อการสนทนา ในการโค้ชผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บริหารอาจเผชิญกับคนคุยยาก ไม่ว่าจะเป็นในวัฒนธรรมเดียวกันหรือต่างวัฒนธรรม มักเผชิญคล้ายกัน

ซึ่งแบ่งคร่าวๆ ได้ 4 ประเภท หนึ่ง คือ กลุ่มรู้แล้วทุกอย่าง สอง กลุ่มพลังล้น สาม กลุ่มไฟมอด และ สี่ กลุ่มคนเก่า คนแก่

กลุ่มรู้แล้วทุกอย่าง กลุ่มนี้มั่นใจว่าตนเองรู้ดีแล้วทุกอย่าง จึงไม่ค่อยเปิดใจรับฟัง มุ่งเน้นผลลัพธ์ในงานตนเอง จนบางครั้งเผลอไปก้าวก่ายงานผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว กลุ่มนี้หากโค้ชใช้การแนะนำอะไรให้ เขามักจะสวนกลับโดยที่โค้ชยังพูดไม่ทันจบประโยค

กลุ่มพลังล้น กลุ่มนี้มีความหมั่นเพียรที่จะทำ ด้านนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น คือ หากเขาหุนหันพลันแล่นไปทำในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความคาดหวังของงานและองค์กร ก็อาจนำมาซึ่งความยุ่งยาก เช่น รับปากลูกค้าว่าจะทำอะไรให้บางอย่าง แต่นโยบายองค์กรยังไม่รองรับ ทำให้ลูกค้าเกิดความไม่พอใจ โค้ชมักหนักใจ เพราะการจะสอนเขา ก็เกรงจะไปพูดจาทำร้ายความมุ่งมั่นที่เขามี

กลุ่มไฟมอด กลุ่มนี้เริ่มสังเกตเห็นความยืดยาด เช้าชามเย็นชาม ไม่ค่อยกระตือรือร้นในการปฏิบัติงาน เมื่อโค้ชไปคุยก็พยักหน้ารับปาก

กลุ่มคนเก่า คนแก่ มักเป็นผู้อาวุโสที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง ผู้บริหารที่เข้าไปใหม่ อายุน้อยกว่า ก็มักจะกังวลในการโค้ช เพราะมองว่าเด็กกว่า ไม่ควรสอนผู้ใหญ่

พฤหัสฯ หน้าจะกล่าวถึงแนวทางในการจัดการกับคนแต่ละกลุ่มนะคะ