posttoday

เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน

20 พฤษภาคม 2559

เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network : AUN)

โดย...สดุดี วงศ์เกียรติขจร

เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network : AUN) เป็นความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน พ.ย. 2538 รวมทั้งสิ้น 13 สถาบัน ปัจจุบันสมาชิกของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนเพิ่มจำนวนเป็น 27 สถาบัน สำหรับมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน มีดังนี้

ประเทศบรูไนดารุสซาลาม – มหาวิทยาลัยแห่งชาติบรูไนดารุสซาลาม

ประเทศกัมพูชา – มหาวิทยาลัยแห่งชาติพนมเปญ/มหาวิทยาลัยแห่งชาติด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์

ประเทศอินโดนีเซีย – มหาวิทยาลัยกัจจามาดา/มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย/สถาบันเทคโนโลยีบันดุง/มหาวิทยาลัยแอร์ลังกา

ประเทศ สปป.ลาว – มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว

ประเทศมาเลเซีย – มหาวิทยาลัยมาลายา/มหาวิทยาลัยเซนส์มาเลเซีย/มหาวิทยาลัยคาบังซาน/มหาวิทยาลัยปุตรามาเลเซีย

ประเทศเมียนมา – สถาบันเศรษฐศาสตร์ย่างกุ้ง/มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง/สถาบันเทคโนโลยีย่างกุ้ง

ประเทศฟิลิปปินส์ – มหาวิทยาลัยเดอ ลา แซล/มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์/มหาวิทยาลัยเอธินีโอ เดอ มะนิลา

ประเทศสิงคโปร์ – มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์/มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง/มหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์

ประเทศไทย – มหาวิทยาลัยบูรพา/มหาวิทยาลัยมหิดล/จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประเทศเวียดนาม – มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม ฮานอย/มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม โฮจิมินห์

วัตถุประสงค์การจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนมีทั้งหมด 5 ประการสำคัญ ได้แก่ 1) การส่งเสริมการสร้างความตระหนักในความเป็นอาเซียน 2) การเพิ่มการเข้าถึงคุณภาพการศึกษา 3) การยกระดับคุณภาพการศึกษา มาตรฐานการปฏิบัติงาน การเรียนรู้ และการพัฒนาวิชาชีพชั้นสูง 4) การสร้างความเข้มแข็งให้กับการเคลื่อนย้ายพรมแดน และความเป็นสากลของการศึกษา และ 5) การให้การสนับสนุนและส่งเสริมแก่ภาคส่วนงานอื่นๆ

ขณะที่การดำเนินงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนมีหลายมิติ อาทิ การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ (Academic Exchange) การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนที่ไม่ใช่วิชาการ (Cultural and Non-Academic Exchange) การอบรมและการพัฒนาขีดความสามารถ (Training Capacity Building) ความร่วมมือด้านงานวิจัย (Collaborative Research)

ทั้งนี้ เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนสามารถเป็นกลไกที่ประเทศไทยใช้ประโยชน์ได้ในระยะข้างหน้า เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาภาษา การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และวัฒนธรรม และการสร้างสำนึกความเป็นอาเซียน อันจะส่งผลให้ประเทศยกระดับศักยภาพของบุคลากรสู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคได้อย่างยั่งยืนต่อไป