posttoday

คูลเจแปนถึงอาเซียน

11 พฤษภาคม 2559

ส่งออกสินค้าช่วงนี้ ตัวเลขไม่ค่อยสวยครับ

โดย...ตะวัน หวังเจริญวงศ์ [email protected]

ส่งออกสินค้าช่วงนี้ ตัวเลขไม่ค่อยสวยครับ

หากไปดูสถิติการส่งออกสินค้าของไทยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะเห็นเลยครับว่า “ตัวแดง” เพียบ แม้กระทั่งตลาดซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่เราคาดหวังกันตั้งแต่ปีที่แล้วว่าจะเป็นทางออกหนึ่ง เราจะพึ่งพากันเองในภูมิภาค แต่ตัวเลขก็ยังเติบโตติดลบกันเกือบทั้งสิ้น ยกเว้นส่งออกไปเวียดนาม

จริงๆ ปัญหาส่งออกสินค้าไม่รุ่ง ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ประเทศไทยหรอกครับ ตอนนี้ประเทศอื่นๆหลายประเทศในอาเซียนก็ประสบปัญหาเช่นกัน

เรื่องนี้ทำให้ผมคิดว่า ในเมื่อ “ของแข็ง” มันขายยากในสภาวะเศรษฐกิจโลกแบบนี้ อาเซียนลองเปลี่ยนไปขาย “ของอ่อน” กันดูบ้างมั้ย

ว่าด้วยเรื่องการขาย “ของอ่อน” เช่น สินค้าวัฒนธรรม ประเทศหนึ่งที่น่าจะเป็นแบบอย่างให้กับอาเซียนได้ก็คือ ญี่ปุ่น ครับ

ในช่วงหลายปีมานี้ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่น (METI) ได้มีนโยบาย “คูล เจแปน” ขึ้นมาครับ นโยบายนี้พยายามส่งเสริมการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมของญี่ปุ่น เช่น ภาพยนตร์ อนิเมชั่น ดนตรี ออกสู่ตลาดต่างประเทศ มีจุดมุ่งหมาย คือ เผยแพร่ “พลังอ่อน” ให้มีอิทธิพลต่อชาวต่างชาติ ให้ชาวต่างชาติรับรู้ความเป็นญี่ปุ่นมากขึ้น เป็นการส่งเสริมรายได้ให้ประเทศอีกทางหนึ่งในยามที่การส่งออกสินค้าทั่วไปทำได้ยาก

นโยบายนี้ยังมีงบประมาณก้อนใหญ่ ไว้สนับสนุนผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ด้วย

ผมจะไม่พูดถึงว่านโยบายนี้ ประสบความสำเร็จหรือไม่ สิ่งที่ผมอยากจะชี้คือแนวคิด บทเรียนที่อาเซียนน่าจะเอาไปต่อยอดได้จากนโยบาย คูลเจแปน

1.อาเซียนต้องคิดแล้วครับ ว่าการพึ่งพาการส่งออกสินค้าทั่วไประหว่างกันเองอย่างเดียว อาจไม่ได้นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่ควรจะเป็น การมีพลังอ่อนเข้ามาช่วย อาจช่วยให้ต่างชาติ “อิน” กับวัฒนธรรมอาเซียน และส่งผลบวกให้ต่างชาติมาซื้อสินค้าอาเซียนทั่วๆ ไปเพิ่มขึ้นด้วย ผู้ประกอบการพลังอ่อนก็ได้งบฯ ผู้ประกอบการพลังแข็งก็มีโอกาสได้ประโยชน์ทางอ้อม

2.อาเซียนต้องใช้งบให้ถูกจุดครับ ทุกวันนี้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมมักไม่ค่อยได้รับความใส่ใจ คนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมก็มีรายได้ไม่มาก ในญี่ปุ่นเองถึงขั้นเคยมีการสำรวจออกมาพบว่า คนกลุ่มนี้มีรายได้ใกล้ระดับความยากจนด้วยซ้ำ บางทีเราอาจต้องเอางบไปลงกับคนด้วย เพื่อให้คนมีรายได้มากขึ้น มีแรงไปทำสินค้าแปลกใหม่ขึ้น

3.งบฯ ที่จะลงไปต้องช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมพลังอ่อนเหล่านี้ให้มีความแตกต่าง มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่ส่งเสริมวัฒนธรรมเดิมๆ ที่มีคนรู้จักอยู่แล้ว

สุดท้าย อาเซียนอาจจะร่วมกันทำวัฒนธรรมอ่อนส่งออก ในนามอาเซียนดู เพื่อที่จะได้ช่วยกันสร้างพลัง สร้างสินค้าส่งออกใหม่ๆ ในนามภูมิภาคให้เป็นที่ประจักษ์กันทั่วโลก

อยากเห็น “คูล อาเซียน” ที่ทำอะไรแบบคูลๆ และมีรายได้แบบคูลๆ กลับสู่ภูมิภาคครับ