posttoday

NTMs ประมงอาเซียน

25 มีนาคม 2559

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้มีผลบังคับแล้วตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2558 เป็นต้นมา และตั้งแต่บัดนี้ไป

โดย...สดุดี วงศ์เกียรติขจร

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้มีผลบังคับแล้วตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2558 เป็นต้นมา และตั้งแต่บัดนี้ไป ประเทศสมาชิกจะต้องร่วมกันเดินหน้าเปิดตลาดให้แก่กันมากขึ้นเป็นลำดับ อันเป็นผลมาจากกรอบความตกลงการเปิดเสรีการค้าของภูมิภาค ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ประเทศสมาชิกจะต้องก้าวข้ามและทยอยปรับลดก็คือ มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures : NTMs) ซึ่งประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ยังคงบังคับใช้อย่างแพร่หลาย ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องรู้เท่าทันมาตรการดังกล่าวที่บรรดาประเทศสมาชิกยังคงดำเนินการอยู่ เพื่อจะสามารถวางกลยุทธ์ในการเตรียมรับมือหรือปรับตัวในระยะต่อไป

ในส่วนของกลุ่มสินค้าประมง พบว่า แต่ละประเทศยังคงใช้ NTMs อยู่เป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย มีข้อจำกัดการนำเข้าสินค้าประมง โดยผู้นำเข้าจะต้องจดทะเบียนเพื่อรับรองการนำเข้าจากกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงก่อนจึงจะสามารถนำเข้าสินค้าดังกล่าวได้ และต้องผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานสุขอนามัย (SPS) มาเลเซีย ก็ยังกำหนดให้ผู้ส่งออกสัตว์น้ำจากต่างประเทศต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้าโดยกรมประมงของมาเลเซีย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ ฟิลิปปินส์ ใช้มาตรการชั่วคราวเพื่อป้องกันโรคระบาดตายด่วน (Early Mortality Syndrome : EMS) และคุ้มครองธุรกิจเพาะเลี้ยงผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและพืชในน้ำที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าว โดยห้ามนำเข้าสินค้าประเภทกุ้งและปูมีชีวิต รวมถึงกุ้งดิบ บรูไน กำหนดให้ผู้ส่งออกสัตว์น้ำต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้าจากกรมประมงก่อน และกัมพูชาบังคับให้สินค้าประเภทสัตว์น้ำที่นำเข้าต้องผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานสุขอนามัย (SPS) ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ จากการสำรวจข้อมูลภาคสนามยังพบว่ามี 3 รายการสินค้าประมงที่มีการใช้ NTMs ในระดับสูง ได้แก่ กุ้ง มีการใช้ NTMs จาก 3 ประเทศสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญและปฏิบัติตาม เนื่องจากทุกประเทศเป็นตลาดที่ต้องการสินค้าคุณภาพสูง ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งสินค้า (เช่น อุณหภูมิตู้แช่แข็งไม่คงที่ ทำให้ความสดและคุณภาพของสินค้าได้รับผลกระทบ) ขณะที่อีกมาตรการชั่วคราวที่ดำเนินการในอีก 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีการออกมาตรการงดนำเข้ากุ้งชั่วคราวจากไทยในช่วงที่เกิดปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS)

ปลาแช่แข็ง ผู้ส่งออกปลาแช่แข็งไปอินโดนีเซียต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันเรื่องการใช้แรงงานเด็ก ส่งผลให้แรงงานขาดแคลนจนทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงยังต้องเผชิญกับอุปสรรคและข้อจำกัดเกี่ยวกับเอกสารเป็นจำนวนมาก และอาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งอินโดนีเซียดำเนินมาตรการควบคุมคุณภาพสินค้าและกีดกันแรงงาน สิงคโปร์ดำเนินการกีดกันแรงงาน ขณะที่ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ มีข้อกำหนดการใช้แบบฟอร์มรับรองจากการใช้ประโยชน์จาก FTA และการดำเนินมาตรการเข้มงวดเรื่องตราสินค้าฮาลาล (Halal) ที่กำหนดให้มีทั้งสองแบบ คือ แบบแช่แข็งและแบบแห้ง ทำให้เป็นอุปสรรคในการหาลูกค้าใหม่ของผู้ประกอบการ เป็นต้น