posttoday

ใกล้ชิดรัฐยะไข่

14 มีนาคม 2559

ตอนที่ผ่านๆ มา ผมได้พูดถึงรัฐมอญ กระหยิ่น ฉาน มาแล้ว อีกรัฐที่อยากจะเล่าคือ รัฐยะไข่

โดย...กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ตอนที่ผ่านๆ มา ผมได้พูดถึงรัฐมอญ กระหยิ่น ฉาน มาแล้ว อีกรัฐที่อยากจะเล่าคือ รัฐยะไข่ ตั้งอยู่ด้านตะวันตกตอนล่างของเมียนมา ขอให้นึกเปรียบเทียบกับไทยก็คล้ายๆ กาญจนบุรีของเรานะครับ เพียงแต่ของเราไม่มีทะเล รัฐยะไข่เป็นรัฐที่มีความยาวมากกว่าความกว้าง อยู่ติดกับอ่าวเบงกอล ทะเลมีระนาบเดียวกันกับมัลดีฟส์ จึงมีทะเลที่สวยงามมาก

ด้านบนของรัฐยะไข่ เป็นแหล่งที่ตั้งของเมืองสำคัญของรัฐ เช่น เมืองชิตต่วย (Sittwe) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐนี้ และเมืองเมี่ยก-อู (Mrauk-U) เป็นราชธานีเก่า มีเจดีย์รูประฆังคว่ำเป็นสัญลักษณ์ มีชายแดนติดกับบังกลาเทศ จึงเป็นแหล่งการค้า การจับจ่ายใช้สอยทางผ่านเข้าสู่บังกลาเทศที่สำคัญ แต่พักหลังๆ นี้มีปัญหาเรื่องโรฮีนจาและปัญหาทางด้านพุทธ-อิสลาม เลยทำให้ซบเซาลงไปเยอะ ประชากรที่นี่ส่วนมากทำประมงและเกษตรกรรม

ชาวบ้านที่นี่น่ารักมาก ผมเคยเดินทางตรวจตลาด และเยี่ยมลูกค้าที่รัฐยะไข่ มีเหตุการณ์ถนนขาดต้องติดอยู่ระหว่างทางเพื่อรอชาวบ้านมาช่วยกันสร้างสะพานใหม่ ติดอยู่หลายชั่วโมงไม่มีอะไรทาน หิวก็หิว เลยเดินลงไปขอซื้อแตงที่ชาวบ้านปลูกไว้ในสวนข้างทาง ปรากฏว่าเขาไม่รับเงิน แถมช่วยผ่าให้เราทานกันอย่างเต็มอิ่มอีกต่างหาก

การเกษตรที่นี่ยังไม่ดีพอเนื่องจากความไม่สงบ ยางพาราที่ปลูกไว้ก็ไม่มีคนตัด ดูแห้งแล้งพื้นดินเป็นดินทรายร่วน ไม่ค่อยน่าจะดีเท่าไร แต่ประมงเขาดีมากๆ ปลาอินทรีที่จับได้ ตัวยาวถึงเอว แต่ไม่รู้จะเอาออกมาขายอย่างไร จึงทำเป็นปลาตากแห้ง แล้วส่งเข้าย่างกุ้ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง ถั่ว พริกแห้ง สมุนไพรต่างๆ จึงเป็นสินค้าสำคัญที่สร้างรายได้ให้ท้องถิ่นนี้

ส่วนการท่องเที่ยวจะเห็นมีแต่ชาวยุโรปที่ชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ เข้ามาที่เมืองเมี่ยก-อู เพื่อชมราชธานีเก่า และวัดวาอารามเท่านั้น คนเอเชียที่รู้เรื่องโรฮีนจาจะไม่กล้าเข้ายะไข่ตอนบนกันครับ การคมนาคมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การค้าขายที่นี่ไม่ก้าวหน้า เพราะถนนยังไม่ดีเลยครับ

ผมเดินทางไปมาทำให้คิดถึงถนนที่กัมพูชา เมื่อยุคเขมรสามฝ่ายเมื่อครั้งที่ผมเคยไปทำการค้าที่นั่น ถนนก็คล้ายๆ กับยะไข่ปัจจุบันมากเลย เป็นถนนลาดยางตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สองที่ไม่ได้ปรับปรุงบางช่วงที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ก็จะมีชาวบ้านมาช่วยกันเอาหินมาถมเรียงทีละเม็ดๆ โดยไม่มีเครื่องจักรกลมาทำงาน ก็เป็นอีกหนึ่งฉากของชีวิตครับ เนื่องจากคนที่นี่ส่วนใหญ่ทำประมง

ดังนั้น การคมนาคมจึงใช้เรือเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งเรือแจวในแม่น้ำ ซึ่งมีอยู่หลายสาย และเรือเครื่องยนต์ที่สามารถออกทะเลเดินทางไปยังเมืองชิตต่วยได้ ช่วงเย็นถ้านั่งที่ตลาดเมืองมินเบียะ (Minbya) จะเห็นชาวบ้านพายเรือกลับบ้าน เด็กๆ ลงเล่นน้ำในแม่น้ำกันสนุกสนาน ทำให้คิดถึงไทยเมื่อสักห้าสิบปีก่อนเลยครับ

เหมือนเข้าไปอยู่ในภาพยนตร์ชีวิตอดีตเลยครับ