posttoday

สอนไม่จำ (3) อุปนิสัย

10 มีนาคม 2559

สองตอนที่ผ่านมา ดิฉันกล่าวถึงการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการจำ และแนวทางปรับวิธีการสอน

โดย...ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ บริษัท แอคคอมแอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ

สองตอนที่ผ่านมา ดิฉันกล่าวถึงการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการจำ และแนวทางปรับวิธีการสอน เพื่อให้เกิดความจำและนำไปปฏิบัติได้จนเป็นอุปนิสัย

เมื่อเกิดความจำแล้ว หากสมองไม่ได้ใช้ข้อมูลนั้นอีก มีความเป็นไปได้ที่มันจะถูกลบเลือนไป การปฏิบัติจึงไม่สม่ำเสมอ การช่วยให้ผู้เรียนได้ดึงข้อมูลนั้นขึ้นมาใช้อีกสามครั้ง จะช่วยให้เขาจำได้ดีขึ้นในระยะยาว เช่น ให้ไปสอนผู้อื่นต่อ สิ่งสำคัญคือ พยายามให้เขาเลือกเองว่าวิธีใดดีที่สุด

นอกจากนั้น การนอนหลับให้เพียงพอก็มีผลต่อความจำ เราอาจเคยได้ยินว่ามีองค์กรอนุญาตให้พนักงานที่ใช้ความคิดเยอะๆ นอนกลางวัน และตื่นมาทำงานใหม่ นั่นเป็นเพราะพวกเขาเชื่อว่า ระหว่างนอนหลับ สมองไม่ได้หยุดทำงาน แต่ยังคงทำหน้าที่ของมันอยู่ เช่น ข้อมูลที่เข้ามาในหัวเราแต่ละวันมากมาย เปรียบเหมือนภายในบ้านที่ข้าวของวางกลาดเกลื่อน บางอย่างก็ต้องเอาออกไปทิ้ง บางอย่างก็ต้องเอาไปเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสม

การศึกษาด้านประสาทวิทยายังเชื่อว่า ระหว่างที่เรานอนหลับ สมองของเรามีกระบวนการจัดการความจำระยะสั้นไปสู่ความจำระยะยาว  เรื่องนี้ก็คงต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม เพราะคงใช้ไม่ได้กับทุกที่ เช่น หากนอนกลางวันกันหมด คงไม่มีใครดูแลลูกค้าที่มาติดต่อ

สิ่งที่น่าคิดคือ การเรียนรู้ที่ดีควรมีการติดตามผลระยะหนึ่ง เพื่ออำนวยการดึงข้อมูลนั้นขึ้นมาใช้และการจัดระบบความคิด

ท้ายสุดของการสอนให้จำ และทำได้ คือการทำให้สิ่งที่จำ นำไปสู่การปฏิบัติจนเป็นอุปนิสัย เหมือนตอนที่เราเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ทำงาน เราทำได้แบบอัตโนมัติ ไม่หลุด ไม่พลาด ไม่ลืมอะไร เพราะเราทำมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง การทำซ้ำๆ ทำให้เกิดเป็นอุปนิสัย

อย่างไรก็ตาม การออกแบบกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนอุปนิสัยเดิมให้เป็นแบบใหม่ เราจำเป็นต้องระบุได้อย่างชัดเจนว่า อุปนิสัยอะไรที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน และอยากจะเปลี่ยนให้เป็นอย่างไร และที่สำคัญควรมีตัวกระตุ้น หรือเตือนให้เราไม่ลืมสิ่งที่อยากจะเปลี่ยนแปลง เช่น อยากลดความอ้วน มีตัวกระตุ้นเป็นการเปลี่ยนจานชามที่ใช้อยู่ให้เป็นใบเล็กๆ ให้หมด เป็นต้น