posttoday

พัฒนาศักยภาพ อุตสาหกรรมไมซ์ไทย (2)

04 มีนาคม 2559

ประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์มีความสำคัญมากต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไมซ์

โดย...วิมล ปั้นคง

ประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์มีความสำคัญมากต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไมซ์ เนื่องจากต้องนำเข้าสินค้าหรือของจากต่างประเทศ ธนาคารโลกได้ศึกษาจัดทำดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index : LPI) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความสามารถแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของแต่ละประเทศ

ผลการประเมินประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของไทยปี 2557 พบว่าอยู่ในลำดับที่ 35 จาก 160 ประเทศทั่วโลก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.43 ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ดี ถือว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม แต่ยังเป็นรองสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเลเซีย และจีน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากการแบ่งกลุ่มตามระดับการประเมินแล้ว พบว่าไทยอยู่ในกลุ่ม Consistent Friendly ซึ่งเป็นระดับเดียวกับฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซียจัดอยู่ในกลุ่ม Logistic Friendly ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

ปัจจัยที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับพิธีการศุลกากร (3.21 คะแนน) รายงานของธนาคารโลกให้เหตุผลประกอบการประเมินว่า ระบบศุลกากรไทยมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย กฎระเบียบ การตีความเพื่อบังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างกัน ขั้นตอนการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าก่อนอนุญาตนำเข้า มีหน่วยราชการเกี่ยวข้องหลายแห่ง ประเด็นด้านสมรรถนะของผู้ให้บริการในประเทศ (3.29 คะแนน) ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม มีเงินทุนหมุนเวียนจำกัด และยังไม่มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการที่เป็นสากลมากนัก

ผู้ประกอบการภาคเอกชนไทยได้สะท้อนมุมมองที่คล้ายกันเกี่ยวกับการนำของเข้าเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์ว่า “ไมซ์โลจิสติกส์มีขั้นตอนการดำเนินพิธีการศุลกากรที่ยุ่งยากกว่าการขนส่งโลจิสติกส์ทั่วไป เนื่องจากการขนส่งโลจิสติกส์ทั่วไปนั้น ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์จะทำหน้าที่เฉพาะส่วนของการดำเนินพิธีการศุลกากร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขอใบอนุญาตในการนำเข้าสินค้า แต่ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์การแสดงสินค้าจะเป็นผู้ทำหน้าที่ขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าแทนให้กับธุรกิจสินค้าอาหารด้วย ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีระเบียบขั้นตอนพิเศษที่ชัดเจนเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติสำหรับการนำสินค้าเข้ามาในประเทศเพื่อใช้ในงานแสดงสินค้าโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ในกระบวนการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้ในงานแสดงสินค้าอาจจะต้องแสดงสินค้าตัวอย่าง มิเช่นนั้นอาจจะถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธการขอใบอนุญาตนำเข้าครั้งนั้นได้”

ดังนั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ ไทยควรพัฒนากฎระเบียบและวิธีปฏิบัติสำหรับการนำเข้าสินค้าชั่วคราวเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์เป็นการเฉพาะ โดยอาจพิจารณาออกกฎหมายการอนุญาตนำสินค้าเข้าชั่วคราวเพื่อการจัดนิทรรศการและการแสดงสินค้าระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะ รวมทั้งต้องเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ให้มีความรู้มากขึ้นเพื่อรองรับโอกาสก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต