posttoday

สอนไม่จำ (2) ยิ่งเยอะ ยิ่งสั้น

03 มีนาคม 2559

หากคุณเป็นหนึ่งในหัวหน้าที่สอนงานผู้ใต้บังคับบัญชา คุณอาจเคยสงสัยว่าทำไมลูกน้องบางคนสอนแล้วไม่จำ

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

หากคุณเป็นหนึ่งในหัวหน้าที่สอนงานผู้ใต้บังคับบัญชา คุณอาจเคยสงสัยว่าทำไมลูกน้องบางคนสอนแล้วไม่จำ ครั้งที่แล้ว ดิฉันได้กล่าวถึงความสำคัญของสมาธิและโฟกัส ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจำข้อมูลและสร้างความจำระยะยาว

เมื่อฮิปโปแคมปัส บันทึกข้อมูลใหม่เข้ามา ต้องการเวลาสองสามนาทีในกระบวนการนำสู่ความจำระยะสั้น การศึกษาด้านสมองระบุว่า จำนวนข้อมูลที่มันจะรับไว้ได้มากสุด อยู่ที่ประมาณยี่สิบนาทีเท่านั้น ดังนั้นการที่ผู้สอนถาโถมข้อมูลหลายชั่วโมงให้ผู้เรียน เป็นวิธีที่ค้านต่อประสิทธิภาพของการช่วยให้ผู้เรียนจำได้คือ ข้อมูลเยอะไปแต่ละครั้ง ยิ่งจำได้น้อย “ยิ่งเยอะ ยิ่งสั้น”

ผู้สอนสามารถให้ข้อมูลสัก 15-20 นาที และให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำกิจกรรมบางอย่าง โดยใช้ข้อมูลนั้นสลับไป เช่น ให้แลกเปลี่ยนกันสรุป หรือแม้แต่การพักเบรกก่อน

อีกวิธีที่จะเป็นการช่วยให้ผู้เรียนจำได้ดีขึ้นคือ การเชื่อมโยง ดิฉันเป็นหนึ่งในแฟนหนังที่ถึงแม้จะจำไม่ค่อยได้ว่านักแสดงชื่ออะไร แต่มักจำได้ว่านักแสดงคนนี้เคยเล่นหนังเรื่องใดมาก่อน ส่วนนักแสดงที่ดิฉันจำชื่อได้จะมีเพียงนักแสดงที่มีบางสิ่งบางอย่างในตัวเขาที่ทำให้ดิฉันนึกถึงคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท สิ่งที่ช่วยให้ดิฉันจำข้อมูลนี้ได้ ก็คือการเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในหัวนั่นเอง

การศึกษาด้านสมองชี้ว่า หากข้อมูลใหม่ได้รับการเชื่อมโยงกับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ผู้เรียนจะสามารถจำข้อมูลนั้นได้ดีขึ้น นี่จึงเป็นอีกประเด็นที่ผู้สอนช่วยผู้เรียนได้ เช่น เมื่อสอนโมเดลการวิเคราะห์พฤติกรรมคนหลากหลายสไตล์ ก็ควรให้เขาใช้โมเดลนั้นวิเคราะห์คนที่เขารู้จักในชีวิตจริงด้วย ให้เขาเชื่อมโยงว่าคนสไตล์ใดที่เขาร่วมงานด้วยแล้วราบรื่น หรือมีอุปสรรค ใช้กรณีศึกษาที่เขาสามารถใช้โมเดลและประสบการณ์ที่มีในการแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม ผู้สอนควรคำนึงถึงความต่างของวัย (Generations) เพราะผู้เรียนในวัย Baby Boomer, Gen X, Gen Y ต่างมีประสบการณ์ที่เก็บไว้ต่างกัน ครั้งหน้าจะกล่าวถึงอุปนิสัยค่ะ