posttoday

สอนไม่จำ (1) ท่านผู้โดยสารโปรดทราบ

25 กุมภาพันธ์ 2559

แต่ละปี องค์กรลงทุนในการพัฒนาในรูปแบบฝึกอบรมด้วยเงินมหาศาล รวมถึงการนำบุคคลภายนอกเข้ามาสอน

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

แต่ละปี องค์กรลงทุนในการพัฒนาในรูปแบบฝึกอบรมด้วยเงินมหาศาล รวมถึงการนำบุคคลภายนอกเข้ามาสอน แต่สิ่งที่ได้มาคือ 90% ของความรู้และทักษะที่ได้เรียนมามักจะหายไปภายในหนึ่งปี

การศึกษาด้านการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ระบุว่า หากทักษะนั้นยังไม่ได้กลายมาเป็นพฤติกรรม ทักษะนั้นอาจจะค่อยๆ จางหายไป

วันนี้จึงขอนำเคล็ดลับที่จะช่วยให้ความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่สอนไปแล้ว ช่วยให้ผู้เรียน เรียนแล้วจำ และทำได้

ดิฉันขอกล่าวถึงเรื่องความจำก่อน  โดยยกตัวอย่างการเดินทางโดยเครื่องบิน ก่อนออกเดินทาง พนักงานต้อนรับจะสาธิตการใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย และชี้ให้เห็นประตูทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่นั่งของเรามากที่สุด

ท่านเคยสงสัยไหม มีผู้โดยสารกี่คนที่ใส่ใจและจำข้อมูลที่สำคัญนั้นได้  ถ้ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นจริง เราจะสามารถปฏิบัติตามโดยอัตโนมัติ หรือทำอย่างที่พนักงานสาธิตให้เราดูได้หรือไม่

แต่ถ้าสมมติ ทันใดนั้น เราได้ยินเสียงพนักงานต้อนรับประกาศว่า ท่านผู้โดยสารโปรดทราบ  ความสนใจของเราถูกดึงดูดไปที่ข่าวสารที่ประกาศออกมา ตัดความคิดอื่นๆ ออกไปชั่วคราว และเราก็รับข้อมูลที่ประกาศนั้นบันทึกเข้าไปในความจำโดยไม่รู้ตัว

หากเปรียบเทียบว่า พนักงานที่สาธิตเป็นผู้สอน และผู้โดยสารเป็นผู้เรียน เรื่องนี้อธิบายการเรียนรู้ได้ดี การที่เราจะจำอะไรใหม่ๆ ได้ เราจำเป็นต้องมีโฟกัส

สมองส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการจำ และในการสร้างความจำระยะยาว คือ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) สมองส่วนนี้ทำงานเหมือนกลไกบันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ และการทำงานของมันต้องอาศัย สมาธิ ความสนใจ นักวิทยาศาสตร์ทางด้านสมองชี้ให้เห็นว่า ความสนใจในสิ่งที่จะเรียนรู้จะทำให้เราจำได้

ดังนั้น การสลับไปมาระหว่างเรื่องนั้นกับเรื่องนี้ การทำหลากหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน (Multitasking) ไม่ส่งผลดีต่อความจำ เช่น ระหว่างเรียน พิมพ์งานไปด้วย ระหว่างอ่านหนังสือ ดูหนังไปด้วย ข้อมูลความจำนั้นๆ ก็จะไม่ต่างไปจากเวลาโทรศัพท์แล้วสัญญาณขาดๆ หายๆ ข้อมูลบางอย่างหายไป

ผู้สอนจึงควรพิจารณาว่า จะสร้างบรรยากาศแรกเริ่มของการเรียนรู้อย่างไร ให้ผู้เรียนมีโฟกัสอย่างเต็มที่ ช่วงเริ่มการเรียนรู้เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ติดตามตอนต่อไป วันพฤหัสบดีหน้าค่ะ