posttoday

อวสานพันธมิตรฯเสริมแกร่งม็อบปชป.

26 สิงหาคม 2556

การยุติบทบาทของแกนนำในนาม “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”

โดย...ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

การยุติบทบาทของแกนนำในนาม “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” สะเทือนต่อแนวทางการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน ตลอดจนขั้วอำนาจของพรรคการเมืองไม่น้อย

เสียงวิพากษ์ต่อพันธมิตรฯ ถึงเหตุที่ต้องยุบตัวลงหนีไม่พ้นสัญญาณการล่มสลายของม็อบการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมที่ถดถอยลง เพราะสารพัดเหตุผลที่ใช้ในการระดมพลทั้งปมการทุจริตคอร์รัปชั่น การกล่าวอ้างสถาบัน รวมไปถึงสร้างวาทกรรม “ระบอบทักษิณ” กลายสภาพเป็นมุขเก่าที่ทำได้เพียงปลุกเร้าอารมณ์ร่วมจากฝ่ายเดียวกัน แต่ไม่สามารถชักจูงพลังจากกลุ่มคนที่มีความเห็นเป็นกลางให้มาร่วมล้างบางรัฐบาลได้ อีกทั้งยังไม่สามารถทัดทานกระแสประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งได้

ชัดเจนว่าแกนนำพันธมิตรฯ เห็นว่าไม่อาจต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยภายใต้ระบอบหีบเลือกตั้ง แม้จะต้องพึ่งกลไกทั้งม็อบขับไล่หรือการรัฐประหารก็ตาม หนทางเดียวคือ การปฏิรูประบบหรือปฏิรูปประเทศใหม่ ซึ่งยังเป็นโมเดลที่เลือนรางมองไม่เห็นทางข้างหน้า

ถ้าย้อนกลับไปรูปการณ์นี้เคยเกิดขึ้นสมัยม็อบแช่แข็ง นำโดย “เสธ.อ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อดีตประธานองค์การพิทักษ์สยาม ที่ปักธงขอเผด็จศึกรัฐบาลในวันเดียว ชูโมเดลปิดประเทศ 5 ปี ไม่ให้มีนักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง และแต่งตั้งคณะบุคคลบริหารประเทศ บทสรุปของเเนวคิดล้มประชาธิปไตย คือ ดึงมวลชนออกมาได้เพียงหลักหมื่นจากเดิมที่ตั้งไว้ถึงหลักล้าน

เช่นเดียวกับ “ม็อบฟืนเปียก” กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ที่ดีเดย์ชุมนุม 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ทว่าประสบปัจจัยเดียวกัน ขาดปมที่ไร้น้ำหนักในการขับไล่ ส่งผลให้คนเข้าร่วมไม่ถึงเป้า จนถึงขั้นไม่สามารถเคลื่อนมวลชนไปสภาเพื่อคัดค้านการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยในวันที่ 7 ส.ค. จนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต้องสวมหัวโขนแกนนำปลุกม็อบไปยังอาคารรัฐสภาเอง

นอกเหนือจากนั้นอีกสาเหตุหลักในการหยุดชะงักของหลายม็อบที่ผ่านมา รวมถึงการยุติการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากภาวะท่อน้ำเลี้ยงอุดตัน กลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจไม่กล้าลงขัน และไม่มั่นใจในศักยภาพในการล้มรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้พลังของกลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มอ่อนลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงการบริหารรัฐบาลของพรรค ปชป.ที่มีการตั้งข้อหาแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ และอ่อนกำลังเรื่อยมาเมื่อเกิดขบวนการมวลชนคนเสื้อแดง ไล่มาจนถึงการยุบสภาและพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาล โดยพันธมิตรฯ ได้ออกแอ็กชั่นเพียงปี 2555 ที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองนิรโทษครอบคลุม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้าสภา แต่ต้องยอมรับว่าการต่อต้านครั้งนั้นต้องอาศัยมวลชนของ ปชป.และการประท้วงถล่มบัลลังก์ประธานสภาของ สส.ยกพรรค จึงจะหยุดการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองได้

จากนั้นในทุกการชุมนุมทั้งม็อบสนามม้า และกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ล้วนเป็นการออกโรงเเละชักใยของนายทหารเก่า โดยกลุ่มพันธมิตรฯ ทำได้เพียงสนับสนุนเบื้องหลังผ่านกองทัพธรรม หรือการเชื่อมสายสัมพันธ์กับทหารแกนนำเท่านั้น เพราะทราบดีว่าหากประกาศออกโรงเอง แต่คนไม่พอ ท่อน้ำเลี้ยงตัน เเละไม่อาจเลี้ยงกระเเสม็อบต้านรัฐบาลให้บรรลุจุดมุ่งหมายได้สำเร็จ อาจเสียแบรนด์ม็อบ 384 วัน 384 คืน ที่เคยชุมนุมล้มรัฐบาลไทยรักไทยและพลังประชาชนมาแล้ว

เมื่อยี่ห้อม็อบส่งผลให้การเรียกกำลังพลเป็นไปได้ยาก ขณะเดียวกันบรรดาแกนนำกลับมีชนักชื่อชั้นความเป็นพันธมิตรฯ ติดหลัง ไม่อาจเข้าร่วมกับกลุ่มอื่นได้โดยสะดวก หากไม่มีมติร่วมของแกนนำ ทางออกของพันธมิตรฯ จึงต้องลอกคราบเสื้อเหลืองออกจากแกนนำทุกราย เพื่อเปิดทางให้แต่ละคนเข้าร่วมขบวนการอื่นได้โดยอิสระ โดยยกเงื่อนไขการท้าไขก๊อกจากตำแหน่งผู้เเทนของ สส.พรรค ปชป.มาปูทางลงไม่ให้ตัวเองเจ็บตัวเท่านั้น ทั้งที่รู้ดีแก่ใจว่า สส.เสื้อฟ้าไม่มีทางลาออกจากสภาหินอ่อนมานอนบนท้องถนนอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าแม้การสลายตัวของพันธมิตรฯ จะเป็นเสมือนจุดจบของยี่ห้อกลุ่มการเมืองภาคประชาชน แต่ในทางกลับกันก็สร้างจุดเริ่มต้นให้กับบรรดาแกนนำที่ล้วนมีสายสัมพันธ์ระโยงระยางกับบรรดาเสนาธิการร่วมต้านระบอบทักษิณให้กลับไปเข้าร่วมกับขบวนการ โดยเฉพาะ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ส่งกองทัพธรรมช่วยเสริมทัพตั้งแต่ม็อบ เสธ.อ้าย ยันม็อบสวนลุมพินี และมีสัมพันธ์อันดีกับ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ หนึ่งในคณะเสนาธิการ ยังไม่นับรวม สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ พิภพ ธงไชย ที่แนบแน่นสมัชชาคนจน และเครือข่ายเอ็นจีโอฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจำนวนมาก

ขณะที่มวลชนกลุ่มพันธมิตรฯ เอง อาจแตกกระจายเป็น 2 ทาง คือ กลุ่มไม่เอา ปชป. และกลุ่มสนับสนุน ปชป.

กลุ่มแรกอาจไปเข้าร่วมกับกลุ่มกองทัพประชาชนฯ ขณะที่กลุ่มหลังอาจผนึกกำลังกับเวทีผ่าความจริงของ ปชป. และกลายเป็นมวลชนเสื้อฟ้าเต็มตัว รอฟังเสียงนกหวีดเมื่อวาระร้อนแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านวาระ 3 มาถึง

ทั้งนี้ มวลชนกลุ่มแรกก็ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อ ปชป. เพราะระยะหลัง ปชป.ส่ง สส.ทั้ง กรณ์ จาติกวณิช กษิต ภิรมย์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ไปร่วมเวทีสวนลุมฯ มาแล้ว เรียกว่าแม้กลุ่มคนพันธมิตรฯ บางส่วน และ ปชป.จะบาดหมางต่างกันทางอุดมการณ์บางกรณี แต่หากล็อกเป้าโจมตีพรรคเพื่อไทย ก็พร้อมหลอมรวมได้ทุกเมื่อ

ไม่เท่านั้น แกนนำพันธมิตรฯ ยังใช้เเผนการไม่ผูกมัดตัวเอง เพราะทิ้งเชื้อไว้ในแถลงการณ์ทิ้งท้ายว่า “...เมื่อสถานการณ์ที่ผู้มีอำนาจหรือผู้ที่มีโอกาสจะเข้าสู่อำนาจในกาลข้างหน้า เสียสละอำนาจและผลประโยชน์ในปัจจุบันหรือในอนาคตเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เมื่อถึงเวลาดังกล่าวแกนนำพันธมิตรฯ ที่แม้จะยุติบทบาทไปแล้ว ก็พร้อมจะกลับมารวมตัวกันใหม่เพื่อทบทวนบทบาทของตัวเองในการเคลื่อนไหวมวลชนอีกครั้ง” เท่ากับถือไพ่เปิดทางให้ตัวเองคืนชีพได้ทุกเมื่อ

ดังนั้น การอวสานของกลุ่มพันธมิตรฯ ในทางหนึ่งอาจประเมินว่าเป็นการอ่อนกำลังลงของม็อบฝ่ายต้านรัฐบาล เเต่อีกทางรัฐบาลไม่อาจประมาทได้เช่นกัน เพราะถือเป็นการกระจายมวลชนเเละแกนนำไปหลอมรวมกับ “พรรค” เเละกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้ามรัฐบาล โดยอาจเกิดสภาวการณ์ที่มวลชนขาดท่อน้ำเลี้ยงกำลังไหลเรียงไปเสริมแกร่งให้พรรคที่เก่าเเก่ที่สุดในประเทศ ที่ไม่ว่าเวลาผ่านไปกี่ยุคสมัย ก็ยังคงจุดเเข็งทั้ง “คอนเนกชัน” และ “สปอนเซอร์” ไม่เคยเปลี่ยน