posttoday

วาระสังคม วาระจิตเภท

24 มกราคม 2558

1 ใน 3 ของคนไทยป่วยด้วยโรคทางจิต ขณะที่อีก 2 ใน 3 มีแนวโน้มป่วยและจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างรู้เท่าทัน

1 ใน 3 ของคนไทยป่วยด้วยโรคทางจิต ขณะที่อีก 2 ใน 3 มีแนวโน้มป่วยและจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างรู้เท่าทัน ข่าวสลด 5 ศพ ช่วงท้ายปี 2557 สาเหตุคือ หัวหน้าครอบครัวป่วยด้วยโรคจิตเภทจึงลงมือฆ่ายกครัว

คำถามคือ เหตุใดเราจึงปล่อยปละให้สถานการณ์ทางจิตเวชรุนแรงถึงเพียงนี้

ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้ว การป่วยด้วยโรคทางจิตไม่แตกต่างไปจากการป่วยทางกาย สามารถรักษาหายขาด และจะยิ่งง่ายต่อการรักษาหากพบสัญญาณป่วยตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

ระยะเวลา 1 ปี เราต่างป่วยด้วยโรคทางกายหลายสิบครั้ง มีทั้งซื้อยากินเองหรือพบแพทย์ตามระดับของอาการป่วย เช่นเดียวกับสุขภาพจิตที่แต่ละปีอาจป่วยได้หลายสิบครั้ง และแต่ครั้งระดับความรุนแรงแตกต่างกันออกไป ทว่าเรากลับไม่เคยรักษามันเลยแม้แต่น้อย

พบว่ามีหลายคนที่ตลอดทั้งชั่วชีวิตไม่เคยตรวจสุขภาพจิตหรือพบจิตแพทย์แม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งแตกต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่การพบจิตแพทย์เป็นเรื่อง “ปกติ” เหตุใดบ้านเราจึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบอาจเป็นเพราะทัศนคติและวาทกรรมผิดๆ ที่สืบต่อกันมานั่นคือ พบ “จิตแพทย์” เท่ากับ “บ้า”

อาการป่วยด้วยโรคทางจิตเกี่ยวพันโดยตรงกับ“ร่างกาย” หลายโรคเป็นผลมาจาก “ร่างกาย” บกพร่องซึ่งก็ต้องรักษาทางกายจึงจะหาย ตัวอย่างเช่น โรคไบโพล่าร์ (อารมณ์สองขั้ว) เกิดจากสารเคมีในสมอง
ไม่สมดุล จำเป็นต้องกินยาเพื่อกระตุ้นให้สมองผลิตสารเคมีชนิดนี้มากขึ้น

ทว่าคนไทยกลับติดอยู่กับความเชื่อที่ว่าเครียด-อารมณ์แปรปรวน-หดหู่-กังวล ต้องแก้ปัญหาด้วยการ “ปล่อยวาง” “ปลง” “ฟังธรรม” หรือ “นั่งสมาธิ”
นั่นไม่ใช่ทางรักษาที่ถูกวิธี

นอกจากนี้ ครอบครัวที่มีผู้ป่วยอยู่ในบ้านกลับไม่มีความเข้าใจในโรค จึงพบการกักขัง ล่าม หรือปิดกั้นไม่ให้ผู้ป่วยออกมาเผชิญโลกภายนอก ที่สุดแล้วผู้ป่วยก็ไม่ได้รับการรักษาจนอาการหนัก เมื่อพาไปยังโรงพยาบาลจึงต้องเป็นผู้ป่วยในแทบทั้งหมด ส่งผลให้โรงพยาบาลแออัด แน่น บุคลากรไม่เพียงพอต่อการดูแล จิตแพทย์มีเวลาเพียงสั่งยา แต่ไม่มีเวลาให้คำปรึกษาเท่าที่ควรแน่นอนว่า หากผู้ป่วยมีฐานะดี อาจจะเลือกไปปรึกษาจิตแพทย์ตามสถานพยาบาลเอกชน แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว

ยารักษาโรคจิตเภทชนิดหนึ่งชื่อ “ลิเทียม” โรงพยาบาลเอกชนพรีเมียมขายเม็ดละ 16 บาท คลินิกนอกเวลาของโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ขายเม็ดละ 8 บาท ขณะที่โรงพยาบาลศรีธัญญาขายเม็ดละ50 สตางค์เท่านั้น คำถามคือ เหตุใดราคายาจึงมีความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่อสิทธิผู้ป่วยในการเข้าถึงยา นำมาซึ่งปัญหาสังคมอย่างมากมาย

ทั้งหมดนี้ สามารถแก้ไขได้โดย 1.เปลี่ยนแปลงทัศนคติ คือเมื่อร่างกายป่วยได้ จิตใจก็ป่วยได้ ทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ 2.ต้องมีสถานบริการที่ภาพลักษณ์ดี ยกระดับความรู้สึกของประชาชนให้ง่ายต่อการเดินเข้าไปรับคำปรึกษา เฉกเช่น คลินิกเสริมความงาม ที่สะอาดสะอ้าน 3.ผลักดันให้มีการตรวจสุขภาพจิตประจำปี 4.เพิ่มช่องทางการเข้าถึงยาราคาถูก เหนือสิ่งอื่นใดถึงเวลาแล้วที่จะยกระดับให้วาระจิตเภทเป็นวาระทางสังคม