posttoday

พม่าโหมแปรรูปไม้ เฟอร์นิเจอร์ไทยยิ้มรับวัตถุดิบ

01 เมษายน 2557

ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ยิ้มรับวัตถุดิบเพิ่ม หลังพม่าส่งเสริมแปรรูปไม้มากขึ้น พร้อมเริ่มแบนส่งออกซุงวันนี้

ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ยิ้มรับวัตถุดิบเพิ่ม หลังพม่าส่งเสริมแปรรูปไม้มากขึ้น พร้อมเริ่มแบนส่งออกซุงวันนี้

นายธนัญ อุ่นโกมล รองประธาน กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้จะได้รับผลดีจากการยกเลิกส่งออก ไม้ซุงของประเทศพม่า ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ เนื่องจากพม่ายังอนุญาตให้ส่งออกไม้แปรรูปต่อไป ซึ่งผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทยนำเข้าไม้แปรรูปจากพม่าเป็นวัตถุดิบ

นโยบายของพม่ายังเป็นการกระตุ้นให้มีการลงทุนแปรรูปไม้ในประเทศเพื่อ ส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะไม้สัก เนื่อง จากสร้างมูลค่าทางการค้าให้กับพม่า ค่อนข้างสูง ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้

ทั้งนี้ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทยได้เตรียมตัวรับผลกระทบจากนโยบายห้าม ส่งออกไม้ซุงมานานแล้ว โดยเตรียมสต๊อกสินค้าไม้แปรรูปจากพม่าไว้จำนวนมาก หรือคาดว่ามีพอใช้ประมาณ 2 ปี

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไม้แปรรูปในพม่าต่างเร่งระบายสินค้า เนื่องจากไม่มั่นใจว่ารัฐบาลพม่าจะประกาศยกเลิกการส่งออกไม้แปรรูปด้วยหรือไม่ในอนาคต ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถซื้อสินค้ามาตุนได้

"เฟอร์นิเจอร์ไม้สักของไทยใช้ไม้สักจากพม่าเกือบ 100% ในกรณีที่เป็นสินค้าคุณภาพดี เกรดสูง แต่หากเป็นสินค้าเกรดรองลงมาจะใช้ไม้สักจากสวนป่าของไทย ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้นำเข้าไม้สักแปรรูปรายใหญ่ของพม่า ไม่ได้มีประเทศอื่นๆ มา แย่งกว้านซื้อวัตถุดิบ ส่วนผู้ประกอบการไทยที่ทำไม้สักก็มีน้อยราย และส่วนใหญ่ก็ทราบเรื่องการปรับนโยบายมานานแล้ว" นายธนัญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศักยภาพการแปรรูปไม้ในพม่ายังมีน้อย และไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งในอนาคตหาก พม่าจะยังใช้นโยบายดังกล่าวต่อไปในระยะยาว จะต้องมีการส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ในประเทศมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้การลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ในพม่าจะมาจากบริษัทต่างชาติค่อนข้างมาก ขณะที่บริษัทของพม่ายังมีศักยภาพน้อย

นอกจากนี้ การที่ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไทยจะเข้าไปลงทุนในพม่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอุตสาหกรรมต่อเนื่องในพม่ายังมีน้อย ยังขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่เคยเข้าไปดูช่องทางการลงทุนแล้ว แต่พบว่าการเข้าไปลงทุนเองยังยาก บางรายจึงหาพันธมิตรในพม่าเพื่อเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบมากกว่า

ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าได้ประกาศห้าม ส่งออกไม้ซุงตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ขณะที่ในรอบปีงบประมาณสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2556 พม่ามีรายได้จากการส่งออกไม้ซุงมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่านโยบายดีจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกไม้ซุง