posttoday

เมืองชายฝั่งจมทะเลแน่ถ้ายังไม่แก้โลกร้อน

16 กรกฎาคม 2560

นักวิทยาศาสตร์ประเมินชุมชนใกล้ชายฝั่งในโลกจะเริ่มจมทะเลมากขึ้น จากภาวะโลกร้อน

นักวิทยาศาสตร์ประเมินชุมชนใกล้ชายฝั่งในโลกจะเริ่มจมทะเลมากขึ้น จากภาวะโลกร้อน

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา มีเหตุหนึ่งเกิดขึ้นที่ทวีปแอนตาร์กติก หรือขั้วโลกใต้ เมื่อแผ่นน้ำแข็งมหึมาขนาดเท่ากรุงลอนดอน ได้แยกตัวออกมาจากแผ่นน้ำแข็งใหญ่ที่ปกคลุมขั้วโลก หลังจากที่เกิดรอยร้าวบริเวณดังกล่าวมาพักใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้ชาวโลกรู้สึกได้ว่าปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

ที่น่าตกใจก็คือ ในวันเดียวกันนั้นสภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ตระหนักในปัญหา หรือ Union of Concerned Scientists ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อการดำรงชีวิตของชาวโลก ได้เผยแพร่รายงานเมื่อน้ำทะเลหนุนโจมตีบ้าน (When Rising Seas Hit Home) ซึ่งเป็นผลการศึกษาแนวโน้มความเสี่ยงที่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จะเข้าท่วมชุมชนหลายร้อยแห่งของชายฝั่งสหรัฐ ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนนับล้านต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

จากการประเมินสถานการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ ได้แบ่งสถานการณ์ความเป็นไปได้ออกเป็น 3 สถานการณ์ คือ สถานการณ์แรกที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่สูงมากต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นศตวรรษนี้ หรือในปี 2100 จนทำให้แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกละลายรวดเร็วขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 6.5 ฟุต

สถานการณ์ที่สองคือ หากมีการปล่อยก๊าซในปริมาณที่มากจนถึงช่วงกลางศตวรรษ ทำให้แผ่นน้ำแข็งละลายในปริมาณที่ช้าลงแต่ต่อเนื่อง ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 4 ฟุต

และสถานการณ์จำลองแบบสุดท้าย การปล่อยก๊าซลดลงอย่างมาก ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเพียง 2 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งแบบจำลองที่ 3 เป็นเป้าหมายของความตกลงปารีส ( Paris Agreement) ว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการทำแบบจำลองเอาไว้ แต่ในความเป็นจริงจะต้องอิงกับสถานการณ์ที่เป็นไปได้สูงสุด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้ประเมินเอาไว้ว่า ภายในปี 2035 ชุมนุม 170 แห่งในสหรัฐจะเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลหนุน จนอาจต้องอพยพหนีจากพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน ซึ่งจำนวน 170 แห่งมากกว่าจำนวนชุมนุมที่ประสบปัญหาในเวลานี้ถึง 2 เท่าตัว และเป็นเพียงตัวเลขในสหรัฐ ยังไม่ได้ประเมินพื้นที่อื่นๆ ของโลกที่ต้องประสบภัยคุกคามแบบเดียวกัน

หลังจากนั้นชุมนุมใกล้ชายฝั่งจะเริ่มจมทะเลมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 270 แห่งในปี 2060 จนถึง 490 แห่งโดยประมาณในปี 2100 ยกเว้นว่าทุกประเทศจะปฏิบัติตามความตกลงปารีสเสียแต่บัดนี้ เพื่อลดปริมาณการปล่อยมลพิษ ซึ่งจะทำให้ชุมนุมราว 380 แห่งรอดพ้นจากการจมอยู่ใต้บาดาล

อย่างไรก็ตาม ชาวโลกไม่ควรตั้งความหวังในแง่ดีมากเกินไป เพราะในเวลานี้สหรัฐซึ่งควรจะเป็นกำลังสำคัญของการปรับใช้ความตกลงปารีส กลับหันหลังให้แผนการต่อสู้ภาวะโลกร้อน ดังนั้นชุมชนต่างๆ จึงต้องช่วยเหลือตัวเองจากภัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแนวป้องกันน้ำทะเล การปรับสภาพความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การทิ้งถิ่นฐานเดิมไปปักหลักยังที่ใหม่ แต่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าแผนเหล่านี้ใช่ว่าจะใช้ได้กับทุกพื้ที่ และอาจใช้งบประมาณมหาศาล ที่สำคัญภัยคุกคามอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่จะรับมือได้ทัน

ภาพ...เอเอฟพี

ที่มา www.m2fnews.com