posttoday

วิกฤตทากาตะจบยาก หวั่นหนี้ท่วม5แสนล้าน

27 มิถุนายน 2560

ทากาตะยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ในสหรัฐ-ญี่ปุ่น คาดขายสินทรัพย์ไม่พอใช้หนี้เรียกเก็บถุงลมนิรภัยทั่วโลก

ทากาตะยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ในสหรัฐ-ญี่ปุ่น คาดขายสินทรัพย์ไม่พอใช้หนี้เรียกเก็บถุงลมนิรภัยทั่วโลก

ทากาตะ บริษัทผลิตถุงลมนิรภัย รายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลายต่อศาลรัฐบาลกลางรัฐเดลาแวร์ สหรัฐ และต่อศาลแขวง กรุงโตเกียว วันที่ 26 มิ.ย. เพื่อจัดการปัญหาหนี้สินมหาศาลจากการเรียกเก็บถุงลมนิรภัยที่ทำงานผิดปกติ โดยกระบวน การยื่นล้มละลายทั้งสองแห่ง คาดจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกปี 2018

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยนรายงาน ว่า สำนักงานทากาตะ 12 แห่งใน ต่างประเทศยื่นขอพิทักษ์สินทรัพย์เช่นกัน

ด้าน โตเกียว โชโก รีเสิร์ช บริษัทวิจัยในญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าหนี้สินทั้งหมดของทากาตะอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5 แสนล้านบาท) โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้ของ ทีเค โฮลดิ้ง บริษัทในเครือที่สหรัฐ กว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.39 แสนล้านบาท) ซึ่งยังไม่รวมค่าชดเชยให้กับเจ้าของรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุทั่วโลกอย่างน้อย 17 ราย ขณะที่ฮอนด้าผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของทากาตะ เปิดเผยว่า บริษัทยังไม่บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการรับผิดชอบกรณีการเรียกเก็บถุงลมนิรภัย

ทั้งนี้ แม้บริษัทคู่แข่ง คีย์ เซฟตี้ ซิสเต็มส์ ซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วน รถยนต์ในสหรัฐ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของหนิงโป จอยสัน อิเล็กทรอนิก คอร์ป ในจีน เสนอซื้อทากาตะในวงเงิน 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.4 หมื่นล้านบาท) แต่วงเงินดังกล่าวยังไม่เพียงต่อการจ่ายค่าเรียกเก็บคืนทั่วโลก ซึ่งรอยเตอร์สระบุว่าอาจสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.39 แสนล้านบาท)

อย่างไรก็ดี กระบวนการผลิตของทากาตะและบริษัทซัพพลายเชนยังไม่มีแนวโน้มหยุดชะงัก โดย คีย์ เซฟตี้ ซิสเต็มส์ เปิดเผยว่าจะยังไม่ลดพนักงาน 6 หมื่นอัตราใน 24 ประเทศทั่วโลกของทากาตะ ขณะที่คาดว่าการเรียกเก็บคืนดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในปี 2020 หลังคืบหน้าไปเพียง 38% ในสหรัฐ และ 73% ในญี่ปุ่น โดยผู้ผลิตรถบางราย เช่น ฮอนด้าและโตโยต้า เปลี่ยนไปใช้ถุงลมนิรภัยจากผู้ผลิตรายอื่นแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อเลี่ยงปัญหาถุงลมขาดตลาด

ทั้งนี้ ชิเงะฮิสะ ทากาดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของทากาตะ เปิดเผยว่า จะลาออกจากตำแหน่งพร้อมกับทีมผู้บริหารระดับสูงเมื่อเสร็จสิ้นการกำหนดกรอบเวลาปรับโครงสร้างบริษัท

"เราเชื่อว่าการดำเนินการในสหรัฐและญี่ปุ่นเป็นหนทางที่ดีที่สุด ซึ่งสร้างความแน่ชัดและความเป็นระบบในการจัดการค่าใช้จ่ายและหนี้สินกรณีการเรียกเก็บคืนถุงลม" ทากาดะ กล่าว