posttoday

เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตแกร่ง

19 พฤษภาคม 2560

เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น 2.2% สูงสุดในรอบ 1 ปี ได้แรงหนุนการส่งออก-บริโภคภาคเอกชนขยายตัว หวั่นค่าเงินเยนแข็งยังกดดันศก.

เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น 2.2% สูงสุดในรอบ 1 ปี ได้แรงหนุนการส่งออก-บริโภคภาคเอกชนขยายตัว หวั่นค่าเงินเยนแข็งยังกดดันศก.

เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวแข็งแกร่ง 2.2% ในไตรมาสแรกปี 2017 หลัง ขยายตัว 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2016 และเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาส 5 ขยายตัวยาวนานที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการส่งออกและการบริโภคปรับตัวดีขึ้น

รอยเตอร์สรายงานว่า การส่งออกปรับขึ้น 2.1% เนื่องจากดีมานด์ในต่างประเทศที่ฟื้นตัวหนุนให้ยอดส่งออกไปยังเอเชียและยุโรปเพิ่มขึ้น อีกทั้งค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบค่าเงินเหรียญสหรัฐก่อนหน้านี้เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

"ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวดีมาก แต่ผมไม่คิดว่าสภาวะเช่นนี้จะดำเนิน ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยความไม่แน่นอนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากความ ปั่นป่วนในทำเนียบขาวของสหรัฐ และแนวโน้มการผลิตขาขึ้นทั่วโลกอาจ สิ้นสุดลงในเร็วๆ นี้ บรรยากาศความเสี่ยงดังกล่าวในตลาด จะทำให้ค่าเงิน เยนแข็งค่าและกดดันเศรษฐกิจญี่ปุ่น" ทาคาชิ ชิโอโนะ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเครดิตสวิส กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 พ.ค. ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์ จากความกังวลว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ อาจโดนถอดถอนออกจากตำแหน่งหลังจากที่มีข่าวว่าทรัมป์เปิดเผยข้อมูลด้านความมั่นคงกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย โดยค่าเงินเยนปรับขึ้น 0.7% อยู่ที่ 112.24 เยน/เหรียญสหรัฐ ระหว่างการซื้อขายสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. นอกจากนี้การแข็งค่าของค่าเงินเยนฉุดดัชนีนิกเกอิ 225 ร่วงลง 261 จุด ปิดที่ 19,553.86 จุด

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของขนาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.4% ในไตรมาสแรก ได้แรงหนุนจากดีมานด์สมาร์ทโฟนและเสื้อผ้า อย่างไรก็ดีตัวเลขการ ใช้จ่ายผู้บริโภคปรับขึ้นมาเพียงเล็กน้อย เป็นผลมาจากภาคเอกชนปรับเพิ่มค่า แรงไม่มาก โดยรอยเตอร์สรายงาน ว่าค่าแรงทั้งหมดที่เป็นตัวเงินของ พนักงานบริษัทลดลง 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้านี้

ด้าน โนริโอะ มิยางาวะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากบริษัทหลักทรัพย์ มิซูโฮ ซิเคียวริตี้ส์ แสดงความเห็นว่า จากทิศทางดังกล่าว เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจไม่ขยายตัวอย่างรวดเร็วนัก แต่จะไม่หดตัวลงเช่นกัน เนื่องจากความเสี่ยงขาลงภายในประเทศมีไม่มากนักและเศรษฐกิจโลกภาพรวมยังแข็งแกร่งอยู่

"ผมคิดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะค่อยๆ หนุนให้การบริโภคเพิ่มขึ้น แต่อัตราการปรับขึ้นดังกล่าวจะเป็นไปอย่างช้า" มิยางาวะ กล่าว