posttoday

สิงคโปร์ว่างงานพุ่งแตะระดับสูงสุด7ปี

29 เมษายน 2560

ว่างงานสิงคโปร์พุ่งสูงสุดรอบ 7 ปี จ้างงานลดฮวบ 8,500 อัตรา ลดลงสุดตั้งแต่วิกฤตโรคซาร์สปี 2003 นักวิเคราะห์ชี้น่าเป็นห่วง

ว่างงานสิงคโปร์พุ่งสูงสุดรอบ 7 ปี จ้างงานลดฮวบ 8,500 อัตรา ลดลงสุดตั้งแต่วิกฤตโรคซาร์สปี 2003 นักวิเคราะห์ชี้น่าเป็นห่วง

กระทรวงทรัพยากรมนุษย์สิงคโปร์ เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานในช่วงไตรมาสแรกปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.3% จากที่เพิ่มขึ้น 2.2% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ส่งผลให้อัตราว่างงานขยายตัวแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี

สถานการณ์ดังกล่าวยังสอดคล้องกับอัตราการจ้างงานที่ลดลงเกือบ 8,500 อัตรา หรือต่ำสุดในรอบเกือบ 14 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2003 ที่ลดลงไปถึง 2.6 หมื่นอัตรา เนื่องจากผลกระทบของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส)

วานินเดอร์ ซิงห์ นักเศรษฐศาสตร์จากแน็ตเวสต์ มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า ในเชิงประวัติศาสตร์นั้นมักจะได้เห็นการจ้างงานที่ลดลงมากเช่นนี้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคถดถอย ดังนั้นจึงนับว่าน่ากังวลอยู่ไม่น้อย

ทั้งนี้ สถานการณ์ในตลาดแรงงานที่อ่อนแรงยังสร้างความกังวลว่าจะกระทบต่อการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนด้วย ซึ่งธนาคารกลางสิงคโปร์เพิ่งออกรายงานประเมินว่า ผู้บริโภคในภาพรวมกำลังลดการใช้จ่ายลง โดยอาจเป็นผลมาจากตลาดการจ้างงานที่อ่อนแรงลง ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันไปอีกระยะจนกว่าตลาดงานจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น

ความเห็นของธนาคารกลางสิงคโปร์สอดคล้องกับตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4 ปี 2016 ที่หดตัวเกือบ 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2009 แม้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวได้ 2.9% ก็ตาม

วันเดียวกัน ทางการญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ตำแหน่งงานว่างเดือน มี.ค. กำลังขยายตัวมากที่สุดในรอบกว่า 26 ปี โดยอัตราการเสนองานให้แก่ผู้สมัครอยู่ที่ 1.45 หรือเท่ากับมีงานว่าง 145 อัตราต่อผู้สมัคร 100 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1.43 ในเดือน ก.พ. และถือเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่ช่วงฟองสบู่ในปี 1990 ขณะที่อัตราการว่างงานในเดือนเดียวกันสำหรับผู้ชายลดลง 0.2% อยู่ที่ 2.8% หรือต่ำกว่า 3% ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1995

โยชิมาสะ มารุยามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์การตลาดของเอสเอ็มบีซี นิกโก ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าสถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปนัก บริษัทต่างๆ ยังอยู่ในภาวะที่ยากลำบากต่อการหาคนเข้าทำงาน และตลาดแรงงานที่ตึงตัวของญี่ปุ่นก็ต่างจากที่อื่นๆ เพราะไม่ได้สะท้อนถึงค่าแรงที่เติบโตขึ้นตามไปด้วยมากพอ ซึ่งการเติบโตของค่าแรงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบริโภคของภาคเอกชน