posttoday

จีนปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบิน "เมดอินไชน่า" ลำแรก

27 เมษายน 2560

จีนเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบิน "ซานตง" ที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศเป็นลำแรก แต่แสนยานุภาพยังเทียบไม่ได้กับเรือของสหรัฐ

จีนเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบิน "ซานตง" ที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศเป็นลำแรก แต่แสนยานุภาพยังเทียบไม่ได้กับเรือของสหรัฐ

มหาอำนาจโลกอวดแสนยานุภาพแบบรายวัน หลังจากปล่อยให้สหรัฐครองเวทีแบบวันแมนโชว์ไปพักใหญ่ ล่าสุด จีนเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่ผลิตด้วยตัวเอง หลังจากเมื่อปีที่แล้วเพิ่งจะขึ้นระวางประจำการเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก ที่ชื่อเรือเหลียวหนิง แต่เป็นของมือสองจากยูเครน และเป็นเรือจากยุคสหภาพโซเวียต

เรือบรรทุกเครื่องบินเมดอินไชน่าลำนี้มีชื่อว่า ซานตง หรือ Type 001A ต่อขึ้นโดยรัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมต่อเรือแห่งจีน (CSIC) เริ่มต่อเมื่อปี 2013 และวานนี้ได้ฤกษ์ปล่อยจากอู่แห้งลงน้ำ ที่อู่ต่อเรือเมืองต้าเหลียน โดยประธานในพิธีคือ พล.อ.ฟ่านฉางหลง แห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชน ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ในคณะกรรมการกลางด้านการทหาร

สำหรับสมรรถนะของเรือบรรทุกเครื่องบินซานตง ยังไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก ได้รับการออกแบบโดยอิงกับเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นคุซเนตซอฟ ของกองทัพเรือสหภาพโซเวียต ซึ่งก็คือเรือรุ่นเดียวกับที่จีนซื้อต่อมาจากยูเครน และดัดแปลงเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันมีเรือที่ใช้โมเดลแบบชั้นคุตเนตซอฟจำนวน 3 ลำ คือเรือแอดไมรัล คุซเนตซอฟของกองทัพเรือรัสเซีย ซึ่งขึ้นระวางมาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต และคาดว่าจะปลดประจำการในปี 2025 ลำที่สองคือเรือเหลียวหนิง ซึ่งมีชื่อเดิมว่าริก้าและวารยัก ส่วนลำที่สามคือเรือซานตง

 

จีนปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบิน "เมดอินไชน่า" ลำแรก

ลักษณะเด่นของเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นคุซเนตซอฟของจีนทั้งสองลำ คือมีหัวเรือที่เชิดขึ้นสำหรับช่วยยกลำตัวเครื่องบินให้ทะยานขึ้น คล้ายกับเรือหลวงจักรีนฤเบศร

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับทัพเรือสหรัฐแล้ว แสนยานุภาพของจีนในด้านนี้ยังเทียบกันไม่ติด ส่วนหนึ่งเพราะลักษณะหัวเรือที่เชิดขึ้น (Ski-Jump) ทำให้สมรรถะในการปล่อยเครื่องบินรบขึ้นลงค่อนข้างจำกัด อีกทั้งยังไม่มีระบบดีดตัวเครื่องบิน (EMALS) ที่สหรัฐมี กระนั้นก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า จีนอาจติดตั้งระบบนี้ในเรือลำที่ 3

เมื่อเทียบระวางขับน้ำระหว่างเรือจีนกับสหรัฐ จะพบว่าเรือรบ ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ที่สหรัฐจอดประจำการที่ญี่ปุ่นมีระวางขับน้ำ 97,000 ตัน เรือบรรทุกเครื่องบินคาร์ล วินสันที่เคลื่อนตัวมาที่คาบสมุทรเกาหลีมีระวางขับน้ำ 103,000 ตัน ส่วนเรือเหลียวหนิงของจีนมีระวางขับน้ำ 60,000 ตัน และคาดว่าเรือซานตงที่เพิ่งปล่อยลงน้ำน่าจะมีระวางขับน้ำไล่เลี่ยกับเรือเหลียวหนิง และด้านพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อน เรือของจีนยังใช้เครื่องดีเซล ส่วนสหรัฐใช้พลังงานนิวเคลียร์

ที่สำคัญก็คือ จีนยังขาดแคลนท่าเรือในดินแดนโพ้นทะเล ต่างจากสหรัฐที่มีจุดจอดเรือหลายแห่งทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในขณะนี้ของจีน คือการพิทักษ์อธิปไตยและผลประโยชน์ในน่านน้ำของตัวเองเท่านั้น และการพัฒนาเรือซานตงเป็นผลสำเร็จ ยังนับเป็นก้าวแรกของการผลิตยุทโธปกรณ์ระดับสูงในอนาคตอีกด้วย

จีนปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบิน "เมดอินไชน่า" ลำแรก