posttoday

"เมดอินไชน่า 2025" สะเทือนเอกชนต่างชาติ

20 มีนาคม 2560

การเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ของจีนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

การเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ของจีนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน เปิดเผยว่า แนวทางปฏิบัติของแผน “เมดอินไชน่า 2025” ซึ่งเปรียบเหมือนแผนอุตสาหกรรม 4.0 เวอร์ชั่นจีน เสร็จสมบูรณ์แล้วเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยแผนการดังกล่าวมุ่งใช้นวัตกรรมยกเครื่องภาคอุตสาหกรรมเพื่อเปลี่ยนจีนสู่แหล่งผลิตสินค้าคุณภาพสูง จากเดิมที่เน้นผลิตสินค้าปริมาณมากเป็นหลัก

แผนเมดอินไชน่า 2025 ได้รับการเปิดเผยครั้งแรกเมื่อปี 2015 ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนา 10 ภาคอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) พลังงานหมุนเวียน และชีวการแพทย์

ในการประชุมสภาประชาชนจีนเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง กล่าวถึงแผนการดังกล่าวด้วยเช่นกัน ระบุว่า การพัฒนาการผลิตอัจฉริยะคือหัวใจของแผนการเมดอินไชน่า 2025 โดยจีนตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศขึ้นเป็น 40% ภายในปี 2020 และ 70% ภายในปี 2025 โดยในปัจจุบันจีนยังต้องพึ่งพาการผลิตวัตถุดิบดังกล่าวจากต่างชาติถึงราว 50% ขณะที่ในการผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรและระบบการควบคุมด้านเทคโนโลยีขั้นสูงนั้น มาจากต่างชาติเกือบทั้งหมด

นอกจากนี้ ภายใต้แผนเมดอินไชน่า 2025 จีนจะเดินหน้าสร้างเขตนำร่องการผลิตอัจฉริยะทั่วประเทศ รวมถึงผลักดันให้กรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและการพัฒนาระดับโลก ขณะที่รัฐบาลจะเดินหน้าสร้างศูนย์นวัตกรรมการผลิตแห่งชาติเพิ่มขึ้นเป็น 15 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2020 และ 40 แห่ง ภายในปี 2025 เพื่อช่วยเหลือภาคการผลิตพัฒนาเทคโนโลยี และสร้างสรรค์วัตถุดิบในการผลิตรูปแบบใหม่ โดยรัฐบาลจะร่วมลงทุนในศูนย์นวัตกรรมดังกล่าว และระดมทุนเพิ่มเติมจากภาคเอกชน อย่างไรก็ดีรัฐบาลจะไม่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนหรือมีส่วนร่วมในศูนย์นวัตกรรม จากความวิตกเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัย

ในปี 2016 ที่ผ่านมา จีนมีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดในด้านการวิจัยและการพัฒนา โดย หลี่ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายในด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.08% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากสัดส่วนไม่ถึง 1% ในปี 2015 โดยจำนวนการยื่นจดสิทธิบัตรในจีนสูงเกิน 1 ล้านฉบับแล้ว

เอกชนต่างชาติหวั่นโดนกีดกัน

หลังการเปิดเผยรายละเอียดแผนเมดอินไชน่า 2025 หอการค้ายุโรปในจีน แสดงความวิตกว่าเอกชนต่างชาติมีแนวโน้มโดนจีนกีดกันทางธุรกิจมากกว่าเดิม เนื่องจากจีนจะหันไปสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในประเทศมากยิ่งขึ้น

โจเออร์ก วุตต์กี ประธานหอการค้ายุโรป กล่าวว่า ในปัจจุบันเอกชนต่างชาติจำนวนมากถูกกดดันให้ต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีขั้นสูงให้จีน เพื่อแลกกับการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศ ซึ่งแม้เมื่อทำเช่นนั้นแล้ว เอกชนยังถูกจำกัดสิทธิในการจำหน่ายสินค้าในจีน และขอเข้าร่วมโครงการลงทุนกับรัฐบาล

“แผนการเช่นนี้ของรัฐบาลจีน จึงทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น”วุตต์กี กล่าว

หอการค้ายุโรปยังเปิดเผยว่า การลงทุนของเอกชนยุโรปในจีนลดลง 23% อยู่ที่ 8,000 ล้านยูโร (ราว 2.99 แสนล้านบาท) ในปี 2016 จาก 1 หมื่นล้านยูโร (ราว 3.74 แสนล้านบาท) เมื่อปีก่อนหน้านี้ ขณะที่การลงทุนของเอกชนจีนในยุโรปในปีที่แล้วพุ่งขึ้น 77% อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านยูโร (ราว 1.12 ล้านล้านบาท) จากปีก่อนหน้า

ด้าน เมี่ยวเว่ย รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมของจีน ชี้แจงหลังหอการค้ายุโรปเปิดเผยดังกล่าวว่า แผนเมดอินไชน่า 2025 ไม่ได้กีดกันเอกชนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในประเทศ โดยแผนดังกล่าวแค่ต้องการป้องกันบริษัทบางแห่งอาศัยช่องโหว่ด้านนโยบายมาเอาเปรียบจีนเท่านั้น พร้อมย้ำจุดยืนว่า จีนเปิดกว้างรับการลงทุนจากเอกชนต่างชาติ โดยบริษัทที่เข้ามาทำธุรกิจจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับบริษัทสัญชาติจีน

อย่างไรก็ดี หลังถ้อยแถลงของเมี่ยวเว่ย หอการค้าสหรัฐออกรายงานโจมตีแผนการดังกล่าว โดยระบุว่า แผนเมดอินไชน่า 2025 ยิ่งตอกย้ำว่า รัฐบาลจีนตั้งใจปรับเปลี่ยนระบบการกำกับดูแลให้เป็นประโยชน์ต่อบริษัทจีนมากกว่าบริษัทต่างชาติ

“ประเด็นสำคัญที่สุดคือ อุตสาหกรรม 10 ภาคส่วนมีแนวโน้มได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลหลายร้อยล้านหยวนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะทำลายการแข่งขันภาคธุรกิจทั้งในตลาดจีนและตลาดโลก เนื่องจากเงินดังกล่าวไม่ได้นำไปใช้ลงทุนพัฒนานวัตกรรมในจีนเพียงอย่างเดียว แต่ใช้ซื้อเทคโนโลยีจากต่างชาติด้วย”หอการค้าสหรัฐ ระบุ

ขณะเดียวกัน สถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอทีไอเอฟ) ของสหรัฐ เรียกร้องให้สหรัฐร่วมมือกับนานาประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศยุโรป กดดันจีนให้ปรับเปลี่ยนแผนเมดอินไชน่า 2025 เนื่องจากแผนดังกล่าวเป็นชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะคุกคามระบบการค้าและเศรษฐกิจทั่วโลก