posttoday

ขึ้นค่าแรงชะงักสวนศก.ฟื้น

16 มีนาคม 2560

เอกชนประเทศพัฒนาชะงักขึ้นค่าแรง แม้คนตกงานลดลง หลังศักยภาพการผลิตโลกโตต่ำ

เอกชนประเทศพัฒนาชะงักขึ้นค่าแรง แม้คนตกงานลดลง หลังศักยภาพการผลิตโลกโตต่ำ

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า บรรดาเอกชนญี่ปุ่นต่างไม่สามารถขึ้นเงินเดือนได้ตามที่สหภาพแรงงานขอ เช่น โตโยต้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของประเทศขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานเฉลี่ย 1,300 เยน ลดลงจากปีก่อนที่ 1,500 เยน และน้อยกว่าที่สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ขอไปที่ 3,000 เยน รวมถึงยังน้อยที่สุดใน 3 ค่ายรถใหญ่เทียบกับนิสสัน มอเตอร์ ที่เฉลี่ย 1,500 เยน และฮอนด้า มอเตอร์ที่เฉลี่ย 3,000 เยน

ด้านภาคอิเล็กทรอนิกส์ พานาโซนิค คอร์ป และเอ็นอีซี คอร์ป ขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยเพียง 1,000 เยน จากที่สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์เรียกร้องไว้ที่ 3,000 เยน ส่วนด้านโตชิบาและชาร์ป ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนหนัก สหภาพแรงงาน ของบริษัทถอนตัวจากสหภาพร่วมและไม่เรียกร้องการขึ้นเงินเดือน

ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว แม้จะมีอัตราว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ค่าแรงกลับไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่าที่ควร เช่น เยอรมนีที่อัตราเงินเฟ้อคิดรวมค่าแรงเติบโตเพียง 1.8% ในปี 2016 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี ขณะที่อัตรา ว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งสร้างความกังวลให้กับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ต้องการเห็นค่าแรงเติบโต

ค่าแรงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก เช่น อีซีบีและธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังเริ่มกลับสู่การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยหากใช้นโยบายดังกล่าวมากและเร็วเกินไปในช่วงที่ค่าแรงไม่ปรับขึ้นจะกดดันอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเป้าหมายของบรรดาธนาคารกลาง

บลูมเบิร์ก ระบุว่า สหรัฐกำลังเผชิญกับตัวเลขแรงงานพาร์ตไทม์ปรับสูงขึ้นในระดับเดียวกับหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ส่วนอังกฤษกำลังเผชิญกับค่าแรงชะลอตัว หลังเผชิญความไม่แน่นอน จากการเตรียมถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ขณะที่ สก็อต มอร์ริสัน รัฐมนตรีคลังออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ค่าแรงของชาวออสเตรเลียไม่เติบโตขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว และนับเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดทางเศรษฐกิจ

โอเมียร์ ชารีฟ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโซซิเอเต้ เจเนราล ในนิวยอร์ก กล่าวว่า ศักยภาพการผลิตโลกที่ย่ำแย่ เช่น ในสหรัฐที่เติบโตเพียง 1% ในปี 2016 เมื่อเทียบกับ 2.4% ในปี 2007 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤต เศรษฐกิจอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าแรงไม่สามารถขยายตัวได้ โดยเมื่อศักยภาพการผลิตเพิ่ม เอกชนจะสามารถขายสินค้าและบริการได้มากขึ้นในขณะที่ต้นทุนต่ำลง

ภาพ เอเอฟพี