posttoday

โลกลุยทลายกำแพงการค้า

24 กุมภาพันธ์ 2560

โลกตกลงย่อยกฎศุลกากรเปิดช่องทางออนไลน์ เอื้อรายย่อย-ค้าออนไลน์ ลดต้นทุนส่งออก

โลกตกลงย่อยกฎศุลกากรเปิดช่องทางออนไลน์ เอื้อรายย่อย-ค้าออนไลน์ ลดต้นทุนส่งออก

ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (ทีเอฟเอ) ภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังสมาชิกทั้งหมด 112 ชาติ จาก 164 ชาติ ให้สัตยาบันในความตกลงดังกล่าว ซึ่งช่วยในการลดอุปสรรคทางการค้าลง เช่น ลดความซับซ้อนและเปิดทางร้องเรียนระเบียบศุลกากร ให้ศุลกากรแต่ละชาติสมาชิกเปิดเผยข้อมูลทางออนไลน์ และเปิดช่องทางให้ชำระเงินออนไลน์ เป็นต้น

อารันชา กอนซาเลซ กรรมการผู้จัดการสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรร่วมระหว่างสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และดับเบิ้ลยูทีโอซึ่งให้ความช่วยเหลือเอกชนด้านการส่งออก เปิดเผยว่า การลดอุปสรรคทางการค้าจะช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยและผู้ค้าอิสระ ให้สามารถส่งออกได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ขณะที่หอการค้าระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ประเมินว่า ทีเอฟเอจะช่วยสร้างงานได้ 20 ล้านอัตราทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

ด้าน แฟรงก์ แอปเปล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล กรุ๊ป บริษัทขนส่งชื่อดัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ค้าอี-คอมเมิร์ซเคยเผชิญกับอุปสรรค เช่น การขาดกฎที่โปร่งใส และระเบียบศุลกากรที่ทำให้ผู้ค้าต้องเตรียมเอกสารเป็นแผ่นกระดาษจำนวนมาก แม้จะเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งกลายป็นการกดดันผู้ค้าออนไลน์ในยุคที่ผู้บริโภคกำลังต้องการการส่งสินค้าภายใน 1 วัน อย่างไรก็ตามทีเอฟเอได้ช่วยลดอุปสรรคดังกล่าว

แอปเปล ระบุด้วยว่า การค้าและอีคอมเมิร์ซมีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ค้ารายเล็กในการค้าโลก โดยการเปลี่ยนให้เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล เพิ่มความโปร่งใสและย่อยกฎให้ง่าย ซึ่งเป็นใจความสำคัญของทีเอฟเอ

นอกจากนี้ ดับเบิ้ลยูทีโอประเมินว่า การลดอุปสรรคการค้าดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าโลกได้ราวปีละ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 35 ล้านล้านบาท) และช่วยประหยัดต้นทุนการค้าได้เฉลี่ย 14.3% ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยสำหรับประเทศไทยจะสามารถประหยัดต้นทุนได้ราว 13.9-15.8%

โรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการดับเบิ้ลยูทีโอ ระบุว่า ทีเอฟเอจะช่วยการค้าโลกได้มากกว่าการยกเลิกภาษีนำเข้าทั้งหมด โดยจะลดโอกาสเกิดความยุ่งยากทางการค้าจากนโยบายประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ซึ่งอาจมีการขึ้นภาษีนำเข้าในหลากหลายรูปแบบ