posttoday

ชาวโรมาเนียยังคงประท้วง แม้รัฐบาลถอนกฤษฎีกาคอร์รัปชั่น

06 กุมภาพันธ์ 2560

รัฐบาลประกาศถอนข้อกำหนดใหม่สำหรับคดีคอร์รัปชั่น เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่ประชาชนยังคงประท้วงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

รัฐบาลประกาศถอนข้อกำหนดใหม่สำหรับคดีคอร์รัปชั่น เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่ประชาชนยังคงประท้วงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

ประชาชนชาวโรมาเนียกว่า 200,000 คนยังคงตั้งมั่นชุมนุมประท้วง ในกรุงบูคาเรสต์ เมืองหลวง แม้รัฐบาลจะประกาศยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่หลายฝ่ายมองว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่บรรดานักโทษทางการเมืองแล้วก็ตาม

หลังการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในที่สุดรัฐบาลโรมาเนียก็ออกประกาศเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาข้อกำหนดใหม่ ในคดีคอร์รัปชั่น ที่ระบุให้ต้องเป็นจำนวนเงินมากกว่า 47,500 ดอลล่าร์สหรัฐขึ้นไป

ข้อกำหนดใหม่นี้ถูกตั้งขึ้นทันที โดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Sorin Grindeanu หลังรัฐบาลของเขาเพิ่งจะเข้าทำงานได้ไม่ถึงเดือน และไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา จึงสร้างความไม่พอใจแก่ชาวโรมาเนียจำนวนมาก และนำมาซึ่งการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยมีมา นับตั้งแต่การล่มสลายของผู้นำคอมมิวนิสต์ ในปี 1989

อย่างไรก็ตาม คำประกาศใหม่นี้ไม่ได้ช่วยยุติการชุมนุมประท้วงของชาวโรมาเนีย ที่ประท้วงติดต่อกันมาเป็นวันที่ 6 แล้ว การชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นที่จัตุรัส Bucharest's Victory ผู้สื่อข่าวจากอัลจาซีรา ได้ลงพื้นที่สำรวจและรายงานว่า แม้รัฐบาลจะออกประกาศถอนกฤษฎีกา แต่ประชาชนยังคงไม่ไว้ใจนายกรัฐมนตรีของพวกเขา

David Chater ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประชาชนบางส่วนเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากการกระทำของเขานั้นสร้างความเคลือบแคลงใจให้แก่ประชาชน ว่าเหตุใดรัฐบาลจึงพยายามผ่านร่างกฏหมายดังกล่าว ฉะนั้นแล้วขณะนี้สิ่งที่ประชาชนชาวโรมาเนียต้องการ คือรัฐบาลที่โปร่งใส จึงขอเรียกร้องให้ทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลของเขาลาออกจากตำแหน่งเสีย

Chatert รายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คาดว่ามีจำนวนผู้ชุมนุมประท้วงมากถึง 200,000 คน ในขณะที่รายงานจากสำนักข่าวท้องถิ่นระบุว่าจำนวนผู้ชุมนุมรวมมีมากถึง 500,000 คนเลยทีเดียว เมื่อรวมกับในอีกหลายเมือง

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี Grindeanu ประกาศถึงสาเหตุของการตัดสินใจถอนพระราชกฤษฎีกานี้ เนื่องจากไม่ต้องการให้ประเทศถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ข้อกำหนดใหม่นี้จะพิจารณาโทษในคดีคอร์รัปชั่นก็ต่อเมื่อเป็นจำนวนเงินทุจริตที่มากกว่า 1 ล้าน 6 แสนบาท รวมทั้งอภัยโทษนักโทษในคดีไม่ร้ายแรงกว่า 2,500 คน