posttoday

ค้าปลีกอเมริกันไม่ฟื้น ปิดสาขาอื้อ-ตกงานเพียบ

06 กุมภาพันธ์ 2560

การแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นทำให้ภาคส่วนค้าปลีกต้องเร่งปรับตัวขนานใหญ่ และรุกเข้าไปในตลาดออนไลน์มากขึ้น

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ท็อป 10 ในสหรัฐอย่าง เมซีส์​ เพิ่งประกาศข่าวร้ายเมื่อช่วงปีใหม่ด้วยการปิดสาขา 70 แห่ง และเตรียมลดพนักงาน 1 หมื่นอัตรา หลังเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่กดดันห้างและร้านค้าปลีกของสหรัฐมาหลายปี แม้จะงัดกลยุทธ์มาดึงดูดลูกค้าช่วงเทศกาลที่ผ่านมา แต่ก็ไม่อาจสู้การเติบโตของค้าออนไลน์ที่มาแรงในรอบหลายปีที่ผ่านมาได้

หุ้นของเมซีส์ปรับขึ้น 5% เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ นิวยอร์กโพสต์ รายงานว่า เทอร์รี ลันด์เกรน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเมซีส์ ที่กำลังจะออกจากตำแหน่ง กำลังพิจารณาจะขายกิจการ

เมซีส์ไม่ใช่ห้างเพียงแห่งเดียวที่ต้องปิดสาขาเพื่อรักษาตัว เซียร์สได้ประกาศปิดสาขา เซียร์ส 41 แห่ง และเคมาร์ทอีก 109 แห่งในเวลาไล่เลี่ยกับเมซีส์ หลังจากปีก่อนที่ปิดไปแล้ว 78 แห่ง และปี 2015 ปิดไปกว่า 200 แห่ง ขณะที่เดอะ ลิมิเต็ด ร้านเสื้อผ้าสตรีชื่อดังเพิ่งประกาศปิดสาขาทั้งหมด 250 แห่ง เหลือเพียงแค่ร้านค้าออนไลน์ และอาจต้องปลดพนักงานกว่า 4,000 อัตรา

ความย่ำแย่ของร้านค้าปลีกส่งผลให้ชาวอเมริกันตกงานหลายหมื่นคน โดยจากข้อมูลของชัลเลนเจอร์ เกรย์ แอนด์ คริสต์มาส บริษัทจัดหางานพบว่า ในปี 2016 ที่ผ่านมา พนักงานมากกว่า 4.36 หมื่นคน ต้องตกงานจากภาคส่วนค้าปลีก

กรีนสตรีทแอดไวเซอร์ เปิดเผยรายงานภาพรวมห้างร้านประจำปี 2017 ว่า ห้างสรรพสินค้าจำเป็นต้องปิดสาขาเพิ่มอีก 800 สาขา เพื่อที่จะรักษาศักยภาพการขายให้ได้เท่าเทียมกันในระดับเดียวกับปี 2006 หลังเผชิญการแข่งขันซึ่งไม่ใช่เพียงค้าออนไลน์เท่านั้น แต่การเติบโตของธุรกิจฟาสต์-แฟชั่น (การออกคอลเลกชั่นเสื้อผ้าอย่างรวดเร็ว) และธุรกิจออฟ-ไพรซ์ (ค้าปลีกราคาถูก) ก็ยังเป็นปัจจัยกดดันเช่นกัน

การแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นทำให้ภาคส่วนค้าปลีกต้องเร่งปรับตัวขนานใหญ่ และรุกเข้าไปในตลาดออนไลน์มากขึ้น หรือปิดสาขาเพื่อรักษาตัว เช่น วอลมาร์ท ค้าปลีกชื่อดังที่ประกาศจะเข้าแข่งขันกับอเมซอน ร้านค้าออนไลน์ชื่อดังที่มีการเติบโตคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการเติบโตในภาคส่วนอี-คอมเมิร์ซทั้งหมดในสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ค้าปลีกบางส่วนกลับเลือกวิธีขยายสาขาไปในพื้นที่ที่สามารถสร้างยอดขายได้แทน และยังเป็นการรองรับนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้เอกชนช่วยสร้างงานในประเทศ เช่น วอลมาร์ท ซึ่งแม้จะเพิ่มการลงทุนออนไลน์มากขึ้น แต่ก็มีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มเติมเช่นกัน โดยคาดจะขยายราว 60 สาขาในปีนี้ พร้อมเพิ่มการจ้างงาน 1 หมื่นอัตรา

ไม่ใช่เพียงวอลมาร์ทเท่านั้น ดอลลาร์ เจเนอรัล (ดีจี) ห้างค้าปลีกที่ขายสินค้าสำหรับใช้ในบ้าน ยังเตรียมขยายสาขาใหม่เพิ่ม 900 สาขา โดยในแต่ละสาขาจะจ้างพนักงานไม่มากนัก และปรับเปลี่ยนที่ตั้งของสาขาเดิมอีก 900 สาขา เพื่อไปในพื้นที่ที่มียอดขายดีกว่า

นโยบายรัฐบาลใหม่ไม่เอื้อ

ขณะเดียวกัน ภาคค้าปลีกยังต้องเผชิญกับการกดดันจากนโยบายรัฐ​ โดยพรรครีพับลิกันเสนอการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้า 20% และยกเว้นการเก็บภาษีสินค้าส่งออก เพื่อกระตุ้นให้เอกชนสหรัฐหันมาผลิตในประเทศมากขึ้น แต่การเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ตามร้านค้าเหล่านี้มักเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคอ่อนไหวต่อการขึ้นราคา

“การขึ้นภาษีชายแดนจะทำให้ราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคสูงไปด้วย ซึ่งเป็นความจริงที่เราต้องเผชิญหากมีการออกมาตรการดังกล่าวจริง” วิกเตอร์ ลูอิซ ซีอีโอของโค้ช แบรนด์กระเป๋าชื่อดัง เปิดเผยกับซีเอ็นบีซี

ความกังวลดังกล่าวส่งผลให้บริษัทค้าปลีกและองค์กรการค้ามากกว่า 120 แห่ง ซึ่งรวมถึงสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นอาร์เอฟ) ออกมาตรการ “ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาเหมาะสมสำหรับชาวอเมริกัน” พร้อมกับที่บรรดาผู้บริหารบินตรงไปยังกรุงวอชิงตันเพื่อกดดันไม่ให้มาตรการดังกล่าวมีการบังคับใช้

ค้าออนไลน์เอื้อธุรกิจขนส่ง

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าออนไลน์ก็ยังให้อานิสงส์ด้านบวกต่อธุรกิจการขนส่ง เช่น ยูไนเต็ด พาร์เซล เซอร์วิส (ยูพีเอส) แม้ภาคธุรกิจดังกล่าวจะยังขยายตัวไม่ทันกับอี-คอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็วก็ตาม โดยผลประกอบการในไตรมาส 4 ของยูพีเอส อยู่ที่ 1.69 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ​ (ราว 5.92 แสนล้านบาท) น้อยกว่าคาดการณ์ที่ 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.95 แสนล้านบาท)

“ในขณะที่ปริมาณการขนส่งเติบโตขึ้น โอกาสกำลังมา แต่ในเมื่อเราทำธุรกิจแบบธุรกิจกับผู้บริโภค (บีทูซี) เราจึงได้รับผลกระทบ” ริชาร์ด เพอเรตซ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินยูพีเอส กล่าว

ทั้งนี้ ยูพีเอสส่งของไปทั้งหมด 712 ล้านชิ้นทั่วโลก ระหว่างช่วงเทศกาลที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันแบล็กฟรายเดย์จนถึงวันสิ้นปี โดยมีการเติบโตทั้งหมด 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2015 ซึ่งธุรกิจแบบบีทูซีคิดเป็น 55% ของปริมาณการจัดส่งทั้งหมด อย่างไรก็ตามการส่งของถึงมือผู้บริโภคทีละรายๆ นั้น ใช้ค่าใช้จ่ายมากกว่าการส่งของระหว่างธุรกิจกับธุรกิจที่มีปริมาณมากในคราวเดียว และกลายเป็นความเสี่ยงที่บริษัทขนส่งต้องแบกรับเช่นกัน

ภาพ...เอเอฟพี