posttoday

นานาชาติมุสลิมจัดประชุมหารือ แก้ปัญหาโรฮิงญา

19 มกราคม 2560

หลายประเทศมุสลิมเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมหารือ เพื่อร่วมกันหาวิธีแก้ไข และช่วยเหลือวิกฤติชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นในขณะนี้

หลายประเทศมุสลิมเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมหารือ เพื่อร่วมกันหาวิธีแก้ไข และช่วยเหลือวิกฤติชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นในขณะนี้

ขณะนี้มีชาวโรฮิงญาราว 70,000 คน ที่พากันอพยพหนีออกจากพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ หลังเกิดการปราบปรามรุนแรงขึ้น เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อกองกำลังทหารเมียนมาเข้ากวาดล้างชุมชนชาวโรฮิงญา โดยกล่าวหาว่าพวกเขาอยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจชายแดน 9 นาย

บรรดาชาวโรฮิงญาที่สามารถเอาชีวิตรอดมาถึงยังบังกลาเทศได้ พวกเขาได้เล่าถึงชะตากรรมอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นว่า ทหารเมียนมาทำร้ายร่างกาย, ข่มขืน, ฆ่าสังหาร ไปจนถึงเผาบ้านเรือนทั้งหมู่บ้าน ของพวกเขา

การคุกคามกลุ่มคนไร้สัญชาติ ในสายตาเมียนมานี้สร้างความโกรธเกี้ยวแก่พี่น้องชาวมุสลิมในหลายประเทศ ส่งผลให้นานาประเทศตัดสินใจจัดการประชุมร่วมกันขึ้นมา เพื่อหารือวิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าว และช่วยเหลือชาวโรฮิงญา โดยทูตจำนวน 56 คน จากองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) ก็จะเข้าร่วมการประชุมที่มีขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย ในวันนี้เช่นกัน

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา Anifa Aman รัฐมนตรีการต่างประเทศของมาเลเซีย ออกมาเรียกร้องให้ยุติการจำกัดการเข้าถึงพื้นที่ในรัฐยะไข่ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมสามารถเดินทางไปถึงชาวโรฮิงญาได้ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวถูกปิดตายโดยรัฐบาลเมียนมา

"การประชุมโดย OIC เป็นที่คาดหวังว่าจะเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาให้ความช่วยเหลือ และหยุดต่อต้านชาวโรฮิงญา นอกจากนี้รายงานจากรัฐมนตรีการต่างประเทศของ OIC คาดว่าความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญาอาจมาในรูปของเงินสด หรือสิ่งของบรรเทาทุกข์อื่นๆ" รายงานจากสำนักข่าว AFP

ชาวพุทธเมียนมาปฏิเสธที่จะให้สิทธิพลเมืองแก่ชาวโรฮิงญา พวกเขามองว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นแรงงานผิดกฏหมายจากบังกลาเทศ แม้ว่าชาวโรฮิงญาส่วนมากจะอาศัยอยู่ในแผ่นดินเมียนมา มาแล้วหลายชั่วอายุคนก็ตาม

วิกฤติที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ ส่งผลให้ชะตากรรมของชาวโรฮิงญากลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างชาวพุทธ และชาวมุสลิมในปี 2012

ขณะนี้บังกลาเทศเองกำลังหามาตรการรับมือกับการหลั่งไหลเข้ามาของคลื่นผู้อพยพ ด้านมาเลเซียผู้เป็นหัวหอกในการประชุม ประเทศนี้ก็ได้รับอุปการะผู้อพยพชาวโรฮิงญาจำนวนหลายพันคนมานานหลายปี ซึ่งจำนวนมากเดินทางมาถึงมาเลเซียในปี 2015 ด้วยการเดินเรือ

ด้านออง ซาน ซูจี รัฐมนตรีการต่างประเทศถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สำหรับความล้มเหลวในการปกป้องชาวโรฮิงญา ก่อนหน้านี้บรรดาผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพพากันลงนามในจดหมายที่ส่งให้สหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้ช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ที่ขณะนี้วิกฤติกำลังรุนแรงไม่ต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมทั้งวิจารณ์ซูจีเอง ผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ จากการต่อสู้ทางการเมืองมาก่อนเช่นกัน