posttoday

ชาตินิยมขึ้นผงาดทั่วโลก

25 พฤศจิกายน 2559

หวั่นขาดแรงงานร้านอาหาร หลังออสซี่เอาใจชาตินิยมจำกัดวีซ่าต่างชาติ ด้านยุโรปกระแสยังแรง

หวั่นขาดแรงงานร้านอาหาร หลังออสซี่เอาใจชาตินิยมจำกัดวีซ่าต่างชาติ ด้านยุโรปกระแสยังแรง

บลูมเบิร์ก รายงานว่า บรรดานักเศรษฐศาสตร์และเจ้าของร้านอาหารต่างกังวลต่อการที่รัฐบาลออสเตรเลียวางแผนจะควบคุมวีซ่าสำหรับลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งเป็นชาวต่างชาติมีทักษะ (457 visa) จะส่งผลให้เกิดการขาดแรงงานในภาคส่วนร้านอาหารนานาชาติ ซึ่งเป็นจุดขายอย่างหนึ่งในการท่องเที่ยวของออสเตรเลีย และกระทบกับเศรษฐกิจในที่สุด

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ วัย 70 ปี ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ และการลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ ส่งผลให้นักการเมืองออสเตรเลียพยายามรักษาฐานเสียงกลุ่มชาตินิยมไว้

แอนดรูว์ ฮิวจ์ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เปิดเผยว่า รัฐบาลพยายามจัดการความตึงเครียดทางการเมืองดังกล่าว ทว่าการแก้ปัญหากลับไม่ได้คำนึงถึงผลเสียทางเศรษฐกิจ

"ผลกระทบจะใหญ่มาก เช่น ขาดแรงงานต่างชาติ ค่าแรงขึ้น และค่าอาหารขึ้น รวมถึงจะลดทอนข้อดีในด้านอาหารนานาชาติ ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ" ฮิวจ์ กล่าว และระบุว่า การจัดการกับวีซ่าดังกล่าวอาจไม่ได้ส่งผลต่อการแก้ความตึงเครียดทางการเมือง หลังจากออสเตรเลียเริ่มมีกระแสเรียกร้องให้หยุดรับผู้อพยพชาวมุสลิม

ก่อนหน้านี้ ปีเตอร์ ดัทตัน รัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลปรับเปลี่ยนวีซ่า 457 ซึ่งเป็นวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานชั่วคราวในออสเตรเลีย โดยลดช่วงเวลาจำกัดที่อนุญาตให้ทำงานกับนายจ้างรายหนึ่งจาก 90 วัน เหลือเพียง 60 วัน เพื่อเปิดทางให้แรงงานชาวออสเตรเลียสามารถเข้าทำงานได้มากขึ้น และเริ่มมีผลในวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากทรัมป์และเบร็กซิตแล้ว ในยุโรปกระแสชาตินิยมก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น มารีน เลอ เพน ผู้นำพรรคเนชั่นแนลฟรอนต์ พรรคอนุรักษนิยมขวาจัดของฝรั่งเศส ซึ่งลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปีหน้า โดยนิตยสารอีโคโนมิสต์ ระบุว่า ชาวฝรั่งเศสมีสัดส่วนความไม่พอใจต่อโลกาภิวัตน์คิดเป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง กับคนที่พอใจ ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป เช่น อังกฤษที่มีสัดส่วนความพอใจต่อโลกาภิวัตน์เกือบ 50%

นอกจากนี้ อีโคโนมิสต์ ระบุว่า ฝรั่งเศสมีความไม่พอใจต่อกระแสผู้อพยพ ซึ่ง เลอ เพน ระบุว่า หากได้รับชัยชนะในปีหน้าจะทำประชามติถอนฝรั่งเศสออกจากอียู โดยนอกจากฝรั่งเศสแล้ว กระแสดังกล่าวยังเกิดขึ้นในสวีเดน เช่น พรรคประชาธิปไตยสวีเดน (เอสดี) ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยม ได้รับความนิยมในผลสำรวจของอินนิซิโอ/อัฟตรอนบลาเด็ท ระบุว่า เอสดีได้รับความนิยม 21.5% เทียบกับเลือกตั้งทั่วไปปี 2014 ที่ 13% ทั้งนี้ สวีเดนจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2018

ภาพ บลูมเบิร์ก