posttoday

คนอ้วนควรจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินแพงกว่าคนทั่วไปหรือไม่?

22 ตุลาคม 2559

เมื่อขนาดร่างกายกำลังกลายเป็นปัญหาที่สายการบินต้องเผชิญ ในการหานโยบายใหม่ๆมารองรับให้ผู้โดยสารทุกคนมีความสุขตลอดการเดินทาง

เมื่อขนาดร่างกายกำลังกลายเป็นปัญหาที่สายการบินต้องเผชิญ ในการหานโยบายใหม่ๆมารองรับให้ผู้โดยสารทุกคนมีความสุขตลอดการเดินทาง

เก้าอี้บนเครื่องบินมีเพียงขนาดเดียวตั้งแต่วันแรก มาจนถึงวันนี้ นั่นคือขนาด 16.5 - 18 นิ้ว ตามความกว้าง แต่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าจำนวนคนอ้วนนั้นเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ในปี 2014 มีผู้ใหญ่มากกว่า 1.9 พันล้านคนที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน และในจำนวนนี้มากกว่า 600 คนเป็นคนอ้วน (องค์การอนามัยโลกนิยามผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานคือผู้ที่มีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25 ส่วนคนอ้วนคือผู้ที่มีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30)

เทรนด์การมีน้ำหนักตัวเกินกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน และสิ่งนี้กำลังส่งผลกระทบกับธุรกิจการบิน ไปจนถึงสิทธิของผู้โดยสาร เมื่อเดือนที่ผ่านมา Giorgio Destro ทนายความจากอิตาลีอ้างว่าเขาไม่ได้รับความสะดวกสบายตลอดการเดินทางบนเครื่องบินของสายการบินเอมิเรท เนื่องจากผู้โดยสารข้างๆเขาเป็นคนอ้วน และเขาต้องทนอยู่อย่างนั้นถึง 9 ชั่วโมง กว่าเครื่องบินจะถึงที่หมายที่ดูไบ

คนอ้วนควรจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินแพงกว่าคนทั่วไปหรือไม่?

แน่นอนหากถามถึงสิทธิของผู้โดยสาร ไม่ว่าใครก็มีสิทธิที่จะบินได้ แม้พวกเขาเหล่านั้นจะมีรูปร่างสูง ผอม ไหล่กว้าง สะโพกใหญ่ หรือขายาวก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าเก้าอี้บนเครื่องบินนั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อความหลากหลายของรูปร่าง และใช่ว่าทุกคนที่จะมีความสุขไปตลอดการเดินทาง นอกจากนั้นยังมีคำถามมายังสายการบินด้วยว่า มันเป็นเรื่องยุติธรรมหรือ ที่ผู้ที่มีน้ำหนักปกติประมาณ 150 ปอนด์ กลับถูกชาร์ตค่าสัมภาระน้ำหนัก 50 ปอนด์เพิ่ม ในขณะที่ผู้โดยสารน้ำหนัก 300 ปอนด์ที่ไม่มีสัมภาระเพิ่มกลับจ่ายค่าตั๋วในราคาปกติ

บางสายการบินก็มีนโยบายใหม่เพื่อรองรับปัญหานี้เช่น ให้คนอ้วนสามารถจองเก้าอี้นั่ง 2 ที่ได้ และบางสายการบินก็ยินดีคืนเงินหากหนึ่งในที่นั่งนั้นไม่ได้ถูกใช้งาน แต่กับซามัวแอร์ (Samoa Air) สายการบินจากประเทศซามัว พวกเขามีวิธีที่ดีกว่าด้วยการคิดราคาที่นั่งจากน้ำหนักตัว หรือที่เรียกกันว่าภาษีไขมัน

คนอ้วนควรจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินแพงกว่าคนทั่วไปหรือไม่?

ในตอนแรกนโยบายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อพินิจดูจะพบว่าน้ำหนักมีผลอย่างมากต่อปริมาณการใช้พลังงานของเครื่องบิน ข้อมูลตัวอย่างจาก Luke Jensen นักวิจัยจากศูนย์ MIT เพื่อการขนส่งระหว่างประเทศระบุว่า น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 50 ปอนด์ สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง737 จากบอสตัน ไปยังเดนเวอร์ ในสหรัฐอเมริกาแล้ว จะเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมาประมาณ 3 - 5 ดอลล่าร์สหรัฐ

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากน้ำหนักตัว ทางสายการบินยืนยันว่าไม่ได้มีเพื่อสร้างความอับอายต่อผู้โดยสาร ซึ่งหากพวกเขามีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะได้นั่งในที่นั่งพิเศษที่สะดวกสบายขึ้น ด้วยขนาดความกว้างของเก้าอี้ที่มากกว่าปกติถึง 12 - 14 นิ้ว

อย่างไรก็ตามมีบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ Peggy Howell จาก NAAFA โต้แย้งว่าความอ้วนคือโรคชนิดหนึ่ง และคนอ้วนควรได้รับการปกป้อง และไม่ควรเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ

คนอ้วนควรจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินแพงกว่าคนทั่วไปหรือไม่?

ในท้ายที่สุดแล้วหนทางการแก้ปัญหาก็ต้องเริ่มจากจุดเริ่มต้นคือเก้าอี้โดยสารอยู่ดี มีไอเดียจากนักวิศวกรไอทีชาวเยอรมันเมื่อปีก่อน ได้รับรางวัล The Crystal Cabin Award จากหัวข้อ Passenger Comfort Hardware ด้วยการออกแบบเก้าอี้ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ 1.5 เท่าเพื่อรองรับผู้โดยสารที่มีน้ำหนักเกิน หรือเดินทางร่วมกับเด็กเล็กโดยเฉพาะ ทั้งนี้ที่นั่งดังกล่าวจะถูกจัดไว้ที่ด้านหลังสุดของห้องโดยสาร

และอีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นไปได้ก็คือ การออกแบบที่นั่งแบบม้านั่ง ซึ่งจะช่วยรองรับผู้โดยสารแบบครอบครัว หรือคนอ้วนโดยเฉพาะ ทั้งนี้ไอเดียดังกล่าวอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร ทั้งนี้ในระหว่างรอการออกแบบใหม่ๆของที่นั่งบนเครื่องบิน ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำในการเลือกที่นั่งว่า ในความเป็นจริงแล้วที่นั่งแต่ละแถวของเครื่องบินนั้นมีขนาดไม่เท่ากัน เช่น ที่นั่งในห้าแถวแรก และห้าแถวสุดท้ายมักจะมีขนาดแคบกว่าที่นั่งตรงกลางของห้องโดยสารเสมอ