posttoday

ชาวมุสลิมประท้วงเงียบใกล้โคลอสเซียม หลังทางการปิดมัสยิด

22 ตุลาคม 2559

บรรดาชาวมุสลิมในอิตาลีพากันประท้วงเงียบ เหตุทางการสั่งปิดมัสยิดหลายแห่งในกรุงโรม คาดเกิดจากกระแสความกลัวการก่อการร้าย

บรรดาชาวมุสลิมในอิตาลีพากันประท้วงเงียบ เหตุทางการสั่งปิดมัสยิดหลายแห่งในกรุงโรม คาดเกิดจากกระแสความกลัวการก่อการร้าย

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่บริเวณโคลอสเซียม หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในกรุงโรม ประเทศอิตาลี แน่นขนัดไปด้วยชาวมุสลิมจำนวนหลายร้อยคน พากันมาประท้วงเงียบ หลังทางการอิตาลีออกคำสั่งปิดมัสยิดหลายแห่ง นอกจากนั้นในการประท้วงยังมีการสวดมนต์ และละหมาด เพื่อแสดงความสันติอีกด้วย

ชาวมุสลิมหลายรายในอิตาลีตั้งข้อสงสัยว่า คำสั่งปิดมัสยิดหลายแห่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสความหวาดกลัวในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของยุโรปขณะนี้ ซึ่งมักตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง

การประท้วงครั้งนี้ดำเนินการโดย Bangladeshi group และ Dhuumcatu ซึ่งต่อสู้กับการถูกกล่าวหาว่ามัสยิดหลายแห่งในกรุงโรมล้วนก่อสร้างขึ้นอย่างผิดกฏหมาย และไม่มีใบอนุญาต

ชาวมุสลิมประท้วงเงียบใกล้โคลอสเซียม หลังทางการปิดมัสยิด

เรารู้สึกว่าหลายฝ่ายๆกำลังโยนความผิดมาให้ชาวมุสลิม Francesco Tieri ผู้ประสานงานการประท้วงครั้งนี้กล่าว เขาอธิบายว่าการประท้วงไม่ได้มีนัยยะทางการเมืองแต่อย่างใด ทุกคนมาด้วยใจสงบนิ่ง แต่เรากลับถูกบังคับให้ต้องเช่าสถานที่สำหรับการสวดภาวนา ซึ่งสำหรับชาวมุสลิมแล้ว ศาสนามีความสำคัญดั่งออกซิเจนในอากาศ หากไม่สามารถสวดภาวนา หรือทำละหมาดได้ ก็ทำกับตาย

ด้าน Barbara Saltamartini นักการเมืองผู้ต่อต้านผู้อพยพ เรียกการชุมนุมครั้งนี้ว่าเป็นการยั่วยุที่ยอมรับไม่ได้ และไม่ควรอนุญาตให้เกิดขึ้นในกรุงโรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยืนยันการปิดของหลายมัสยิดจริง อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่า ที่นี่ทุกคนมีอิสรภาพทางความคิดและความเชื่อ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฏหมาย

ชาวมุสลิมประท้วงเงียบใกล้โคลอสเซียม หลังทางการปิดมัสยิด

ในอิตาลี ศาสนาอิสลามไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ เช่นศาสนายิว หรือศาสนาคริสต์ บรรดาชาวมุสลิมจากตอนเหนือของแอฟริกา และในเอเชียมักเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ

ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่ามีชาวมุสลิมราว 8 แสนคนที่อาศัยอยู่ในอิตาลีอย่างถูกกฏหมาย และอีกราว 1 แสนคนที่อาศัยอยู่โดยไม่มีใบอนุญาต หรือคิดรวมมากกว่า 1.5% ของประชากรรวมทั้งหมด

โรมได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีมัสยิดมากที่สุดในหมู่ประเทศตะวันตก แต่หลายครั้งกระบวนการก่อสร้างมัสยิดแบบดั้งเดิมมักขัดแย้งกับเทศบาลท้องถิ่น ซึ่งบรรดาชาวมุสลิมส่วนใหญ่มักทำพิธีกรรมทางศาสนาในบ้าน หรือในศูนย์อิสลามของชุมชน