posttoday

เมื่อในหลวงทรงปรบพระหัตถ์ เปลี่ยนใจผู้ต่อต้านให้ยอมรับ

20 ตุลาคม 2559

ย้อนเหตุการณ์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 เสด็จฯเยือนสหรัฐ และทรงทำให้นักศึกษาผู้เห็นต่างให้การยอมรับ

ย้อนเหตุการณ์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 เสด็จฯเยือนสหรัฐ และทรงทำให้นักศึกษาผู้เห็นต่างให้การยอมรับ

ตลอดระยะเวลาการครองราชย์อันยาวนาน นอกจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงทุ่มเทพระวรกายทรงงานเพื่อพสกนิกรชาวไทยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแล้ว พระองค์ยังทรงเสด็จประพาสต่างประเทศ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ และทุกประเทศที่พระองค์เสด็จฯ ไปนั้น มีการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จจากประเทศเจ้าภาพอย่างอบอุ่นและสมพระเกียรติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสด็จฯ เยือนสหรัฐ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส และพระราชธิดา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.-14 ก.ค. 2503

ทันทีที่พระองค์เสด็จฯ ลงจากเครื่องบินที่เมืองไฮโล รัฐฮาวาย ประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้จัดเตรียมระบำฮูลาเป็นการต้อนรับ ทรงประทับ ณ โรงแรมรอยัลฮาวายเอียน ต่อมาเสด็จฯ ไปยังลอสแองเจลิส ระหว่างวันที่ 18-27 มิ.ย. โดยเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโรงถ่ายภาพยนตร์ของ บริษัท พาราเมาท์ ซึ่งขณะนั้นกำลังถ่ายทำเรื่อง G.I.Blue พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชปฏิสันถารกับ เอลวิส เพรสลีย์ ราชาร็อกแอนด์โรลล์ พระเอกของเรื่องอย่างเป็นกันเอง

เมื่อในหลวงทรงปรบพระหัตถ์ เปลี่ยนใจผู้ต่อต้านให้ยอมรับ

นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังเสด็จฯ ไปยังดิสนีย์แลนด์ เมืองอนาแฮม รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ตามเสด็จด้วยในขณะนั้น ในโอกาสนี้ วอลท์ ดิสนีย์ เจ้าของสวนสนุกดังกล่าว เฝ้าฯ รับเสด็จ ทั้ง 4 พระองค์ทรงประทับเครื่องเล่น อลิซ อิน วันเดอร์แลนด์ และสตอรี่บุ๊ค โบ้ต ท่ามกลางสื่อมวลชนที่ไปทำข่าวกันอย่างเนืองแน่น

ครั้นพอพระองค์เสด็จฯ ไปยังมหานครนิวยอร์ก ปรากฏว่าชาวนิวยอร์กกว่า 750,000 คนต่างพากันเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างเนืองแน่น มีการโห่ร้องและโยนสายรุ้งตลอดระยะทางที่รถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนเคลื่อนผ่านถนนสายบรอดเวย์ล่างไปจนถึงศาลาเทศบาลเป็นเวลากว่า 20 นาที

เมื่อในหลวงทรงปรบพระหัตถ์ เปลี่ยนใจผู้ต่อต้านให้ยอมรับ

 

เมื่อในหลวงทรงปรบพระหัตถ์ เปลี่ยนใจผู้ต่อต้านให้ยอมรับ

วันที่ 7 กรกฎาคม 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เยี่ยมโรงพยาบาลเม้าท์ ออเบิร์น สถานที่เสด็จพระราชสมภพในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ โอกาสนี้ได้พระราชทานของที่ระลึกแก่ “พระสหายคนแรก” ดับบลิว. สจ๊วต วิตต์มอร์ นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 และพระราชทานตลับแป้งถมทองแก่นางพยาบาลผู้ช่วย 4 คน

เมื่อในหลวงทรงปรบพระหัตถ์ เปลี่ยนใจผู้ต่อต้านให้ยอมรับ

ในการเสด็จฯ เยือนสหรัฐเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2510 อันเป็นปีที่ชาวอเมริกันเดินขบวนและหนังสือพิมพ์ลงข่าวโจมตีรัฐบาล เรื่องการส่งทหารมาช่วยรบและเสียชีวิตมากมายในเวียดนามใต้ ในภาวะอันวิกฤตนี้ทรงเกรงว่ารัฐบาลสหรัฐจะล้มเลิกนโยบาลช่วยเหลือเอเชียอาคเนย์ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของไทย จึงเสด็จฯ ไปทรงเจริญสัมพันธไมตรี แต่ก็ทรงเสี่ยงที่จะเผชิญกับการต่อต้านจากกลุ่มนักศึกษาที่ไม่สนับสนุนการส่งกำลังทหารของสหรัฐไปยังเวียดนาม

ในการนี้จะทรงได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยวิลเลียมส์ และจะต้องมีพระราชดำรัสตอบ แต่ปรากฏว่า ก่อนจะถึงงาน 1 วัน กรรมการมหาวิทยาลัยมากราบทูลว่า อาจจะมีการแจกใบปลิวหรือเดินออกจากพิธีบ้าง ขออย่าตกใจ เพราะในสหรัฐทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ในบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง “ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ” ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตอนหนึ่งทรงเล่าเหตุการณ์ในวันต่อมาไว้ว่า “พิธีในวันจริงจบลงอย่างเรียบร้อยเกินคาด กรรมการมหาวิทยาลัยกราบทูลพระองค์ว่า ‘ที่นักศึกษาไม่ทำเช่นนั้นก็เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงปรบพระหัตถ์ให้เป็นเกียรติแก่นักศึกษาทั้ง 3 คน เขาเห็นว่าทรงยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เขาจึงอยากแสดงว่าเขาเองก็ยินดีรับฟังความคิดเห็นของพระองค์ท่านเช่นกัน’”

ครั้นกลับมาแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้ทูลถามว่า ทำไมจึงทรงปรบพระหัตถ์ให้ ทั้งๆ ที่หลายคนก็ไม่ได้ปรบมือ พระองค์ท่านทรงรับสั่งตอบว่า “ไม่รู้ดอกหรือว่าบทความเหล่านั้นเป็นบทความที่เขาได้รับรางวัลทางด้านภาษา เขาพูดเก่ง ใช้ภาษาที่ถูกต้อง ไม่ใช่รางวัลด้านนโยบาย ก็น่าปรบมือให้ เพราะว่าเขาเขียนภาษาได้ไพเราะเพราะพริ้งมากกว่า

ในหนังสือพระราชนิพนธ์ดังกล่าว ระบุพระราชดำรัสย่อของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไว้ว่า “โลกปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ ฉะนั้น ก่อนที่คนเราจะปักใจเชื่ออะไรลงไป ควรพิจารณาดูเหตุผลให้ถ่องแท้เสียก่อน แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงแนะให้มนุษย์ใช้สติและปัญญาศึกษา ค้นคว้า และไตร่ตรองให้ทราบแน่ว่าคำสั่งสอนนั้นเป็นความจริงที่เชื่อได้หรือไม่ ไม่ให้สักแต่ว่าเชื่อเพราะว่ามีผู้บัญญัติไว้”

ภาพ : digitallibrary.usc.edu, www.prdnorth.in.th

ที่มา www.m2fnews.com