posttoday

สภาคองเกรสโค่นวีโต้กม.9/11

30 กันยายน 2559

สภาคองเกรสคว่ำอำนาจวีโต้ของโอบามาครั้งแรกในรอบ 8 ปี ดันกฎหมายเปิดช่องเหยื่อ 9/11 ฟ้องซาอุดิอาระเบียได้

สภาคองเกรสคว่ำอำนาจวีโต้ของโอบามาครั้งแรกในรอบ 8 ปี ดันกฎหมายเปิดช่องเหยื่อ 9/11 ฟ้องซาอุดิอาระเบียได้

สภาคองเกรสสหรัฐมีมติเสียงส่วนใหญ่ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ปฏิเสธการใช้อำนาจ ของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ไม่ให้ยับยั้งร่างกฎหมายจากสภาคองเกรสเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย "จัสตา" หรือการเปิดช่องให้เหยื่อจากเหตุวินาศกรรมวันที่ 11 ก.ย. 2001 สามารถฟ้องร้องรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ซึ่งถือเป็นประเทศต้นทางของผู้ก่อการร้ายได้

วุฒิสภาสหรัฐมีมติ 97 ต่อ 1 เสียง ตามมาด้วยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติด้วยเสียง 348 ต่อ 77 เสียง เห็นชอบให้ปฏิเสธอำนาจการวีโต้ของประธานาธิบดี โอบามา ซึ่ง รอยเตอร์ส ระบุว่า แม้แต่ สส.และ สว.ฝ่ายรัฐบาลพรรคเดโมแครตยังสนับสนุนการลงมติครั้งนี้ร่วมกับพรรครีพับลิกัน และนับเป็นครั้งแรกที่มีการคว่ำสิทธิวีโต้ของโอบามา หลังจากที่ผู้นำสหรัฐใช้สิทธิยับยั้งกฎหมายมาแล้ว 12 ครั้ง ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายความยุติธรรมต่อผู้สนับสนุนการก่อการร้าย (จัสตา) ออกมาตั้งแต่ต้นปีนี้ ทว่าถูกโอบามาใช้สิทธิในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐวีโต้ยับยั้งไม่ให้บังคับใช้ร่างกฎหมายนี้ โดยหลายฝ่ายระบุว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐเลวร้ายลง หลังจากที่มีปัญหา กระทบกระทั่งมาก่อนหน้านี้นับตั้งแต่มีการ ผ่อนปรนการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน

ด้าน ประธานาธิบดี โอบามา กล่าวภายหลังการลงมติของสภาคองเกรส ว่า แม้จะเข้าใจดีว่าชาวอเมริกันยังคงมีบาดแผลทางใจจากเหตุวินาศกรรมวันที่ 11 ก.ย. แต่การลงมติครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินการที่อันตรายและจะกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ เนื่องจากจะเป็นการบ่อนทำลายหลักการคุ้มกันของรัฐ และเปิดช่องให้สหรัฐสามารถถูกฟ้องร้องจากภารกิจทางการทหารในต่างประเทศได้ นอกจากนี้ยังกล่าวว่า มติที่ออกมาเป็นเรื่องทางการเมือง เนื่องจากกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.นี้

"กฎหมาย 9/11 ไม่สามารถช่วยได้ทั้งการปกป้องชาวอเมริกันจากการก่อการร้ายและการปรับปรุงประสิทธิภาพของ เราในการรับมือกับการโจมตีดังกล่าว" โอบามา ระบุในข้อความตอนหนึ่งที่ส่งไปถึงสมาชิกวุฒิสภา

ด้านบลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า แผนการขายพันธบัตรรัฐบาลเป็นครั้งแรกของซาอุดิอาระเบียวงเงินอย่างน้อย 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.46 หมื่นล้านบาท) ในเดือนหน้า หลังจากที่ประเทศประสบภาวะขาดดุลงบประมาณอย่างหนักเนื่องจากราคาน้ำมันโลกดิ่งลงมานานถึง 2 ปีนั้น อาจต้องเลื่อนออกไปอีก เนื่องจากการลงมติของสภาคองเกรสสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลซาอุดิอาระเบียซึ่งถือเป็นประเทศพันธมิตรรายใหญ่ที่เหนียวแน่นที่สุดของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้ส่งสัญญาณเตือนว่าการผ่านกฎหมายจัสตา จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและซาอุดิอาระเบีย

ภาพเอเอฟพี