posttoday

บีโอเจช็อกตลาดทุนโลก

30 กรกฎาคม 2559

ตลาดทุนผิดหวัง ธนาคารกลางญี่ปุ่นกระตุ้นน้อยกว่าที่คาด ส่งสัญญาณแบงก์ชาติตึงมือ

ตลาดทุนผิดหวัง ธนาคารกลางญี่ปุ่นกระตุ้นน้อยกว่าที่คาด ส่งสัญญาณแบงก์ชาติตึงมือ

ที่ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติด้วยเสียง 7 ต่อ 2 ขยายวงเงินซื้อกองทุนอีทีเอฟจาก 3.3 ล้านล้านเยน/ปี (ราว 1.11 ล้านล้านบาท) เป็น 6 ล้านล้านเยน/ปี (ราว 2.02 ล้านล้านบาท) ทว่าไม่ขยายมาตรการซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) และไม่ใช้ดอกเบี้ยติดลบเพิ่มติม ส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนทั่วเอเชียมีปฏิกิริยาในเชิงลบ สะท้อนความผิดหวังกันอย่างถ้วนหน้า 

ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นทันทีกว่า 2.5% เทียบเหรียญสหรัฐ จาก 105.23-33 เยน/เหรียญสหรัฐ เมื่อเย็นวันที่ 28 ก.ค. ไปแตะระดับ 102.71 ระหว่างการซื้อขายวานนี้ ก่อนจะอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 103.61-64 เยน/เหรียญสหรัฐ เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. วานนี้ตามเวลาในญี่ปุ่น

“ตลาดคาดหวังว่าจะได้เห็นบีโอเจอัดฉีดคิวอีเพิ่มอีกอย่างน้อย 10 ล้านล้านเยน (ราว 3.36 ล้านล้านบาท) มาตรการครั้งนี้จึงสร้างความผิดหวังอย่างมาก”
มิโนริ อุชิดะ หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดโลกของธนาคารโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ
(บีทีเอ็มยู) กล่าวกับสำนักข่าวเกียวโด

ด้านอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ก็ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 1 เดือนทันทีในช่วงสั้นๆ วานนี้ ไปแตะระดับลบ 0.170% ก่อนจะปิดระดับที่ลบ 0.180% เช่นเดียวกับดัชนีนิกเกอิ 225 ตลาดหุ้นโตเกียว ที่ลดลงทันที 2% ระหว่างการซื้อขายก่อนจะกลับขึ้นมาปิดบวกได้เล็กน้อย 0.56% อยู่ที่ 16,569.27 จุด 

ทั้งนี้ การตัดสินใจคงวงเงินคิวอีตามเดิมที่ 80 ล้านล้านเยน/ปี และอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ 0.1% นับตั้งแต่การประชุมเมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีแรงกดดันเรียกร้องให้ผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามมากขึ้นว่า บีโอเจใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินจนถึงลิมิตแล้วหรือไม่

ด้านรอยเตอร์สรายงานอ้างร่างเอกสารมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นว่า ภายใต้มาตรการกระตุ้นครั้งใหม่วงเงิน 28 ล้านล้านเยน (ราว 9.41 ล้านล้านบาท) ที่นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้ จะเป็นส่วนของการกระตุ้นทางการคลัง 13.5 ล้านล้านเยน (ราว 4.54 ล้านล้านบาท)

วงเงินดังกล่าวจะเป็นการใช้จ่ายโดยตรงของภาครัฐ ทั้งจากส่วนกลางและทางการท้องถิ่น 7.5 ล้านล้านเยน (ราว 2.52 ล้านล้านบาท) ขณะที่อีก 6 ล้านล้านเยน (ราว 2.02 ล้านล้านบาท) จะเป็นโครงการเงินกู้และการลงทุนนอกงบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 ส.ค.นี้  

ผลการประชุมของบีโอเจยังมีขึ้นในช่วงฤดูการประกาศผลประกอบการของบริษัทเอกชนญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งมีรายได้หรือกำไรสุทธิลดลงกันถ้วนหน้า จากปัจจัยค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

ล่าสุด มีรายงานว่า กองทุนบำนาญของญี่ปุ่น (จีพีไอเอฟ) กองทุนบำนาญใหญ่ที่สุดในโลก ขาดทุน 3.8% หรือ 5.3 ล้านล้านเยน (1.78 ล้านล้านบาท) ปีงบประมาณก่อนสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2016 โดยขาดทุนในตลาดหุ้นเป็นหลัก