posttoday

ยุโรปอันตราย! ผุด "โลนวูล์ฟ" เสพติดความรุนแรง

26 กรกฎาคม 2559

ปัญหาสำคัญที่สุดของหน่วยความมั่นคงในตอนนี้คือ ไม่สามารถรู้แรงจูงใจที่หลากหลายของผู้ก่อเหตุได้

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

เยอรมนีเผชิญการก่อเหตุรุนแรงอีกเป็นครั้งที่ 3 ภายในรอบ 1 สัปดาห์ โดยแม้ว่าบางเหตุการณ์จะยังไม่พบหลักฐานเกี่ยวพันไปถึงกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) แต่กลับสร้างความหวาดกลัวต่อภัยร้ายในรูปแบบของการก่อเหตุเพียงลำพัง (โลนวูล์ฟ) ที่ไม่ได้ชี้ชัดว่าผู้ก่อเหตุเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายใดขึ้นมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถหาทางควบคุมได้ และกังวลว่าจะก่อให้เกิดการเลียนแบบในบรรดาผู้ฝักใฝ่ความรุนแรงให้ก่อเหตุตามมาเป็นโดมิโน

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุคนร้ายระเบิดฆ่าตัวตายที่บาร์แห่งหนึ่งในเมืองอันสบาค แคว้นบาวาเรีย ของเยอรมนี ทำให้ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต
มีผู้บาดเจ็บ 12 ราย ส่วนทางการต้องสั่งอพยพผู้คนมากกว่า 2,000 คนออกจากพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งกำลังจัดเทศกาลดนตรี โดยผู้ก่อเหตุเป็นผู้อพยพชาวซีเรีย ที่ถูกปฏิเสธสถานะการขอลี้ภัยและมีประวัติเคยเข้ารับการบำบัดทางจิต

ด้าน โยอาคิม เฮอร์แมนน์ รัฐมนตรีมหาดไทยของแคว้นบาวาเรีย ระบุว่า เป็นไปได้ที่กลุ่มไอเอสจะอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุ โดยแม้จะยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงถึงกลุ่มก่อการร้าย แต่เชื่อว่าเป็นการจงใจก่อเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากพบระเบิดจำนวนมากในกระเป๋าของผู้ก่อเหตุที่พยายามเข้าไปในเทศกาลดนตรี

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้อพยพชาวอัฟกานิสถานรายหนึ่งใช้ขวานบุกทำร้ายผู้คนบนรถไฟ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน ตามมาด้วยเหตุการณ์ชาวเยอรมนีเชื้อสายอิหร่านชื่อ อาลี เดวิด ซอนโบลี กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าในมิวนิก เมื่อวันที่ 22 ก.ค. โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า ผู้ก่อเหตุเคยเข้ารับการบำบัดอาการทางจิตและมีความสนใจการก่อการร้ายของกลุ่มขวาจัดในนอร์เวย์เมื่อ 5 ปีก่อน รวมทั้งมีพฤติกรรมหมกมุ่นความรุนแรง แต่ไม่พบความเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส

ขณะเดียวกัน ยังเกิดเหตุคนร้ายบุกกราดยิงที่ไนต์คลับแห่งหนึ่งในรัฐฟลอริดา ของสหรัฐ อีกครั้ง โดยเกิดขึ้นที่คลับบู เมืองฟอร์ตไมเยอร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย บาดเจ็บอีก 15 ราย เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา

เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เป็นการสั่งการของกลุ่มไอเอสหรือผู้ที่มีแนวคิดสุดโต่งทั้งหมด โดยหลายครั้งเป็นการก่อเหตุจากผู้นิยมความรุนแรง มีอาการทางจิต หรือเป็นผู้ที่เลียนแบบการก่อเหตุมาจากสื่อสังคมออนไลน์ อินเทอร์เน็ตหรือแม้แต่ในภาพยนตร์ ซึ่งทำให้ชาติตะวันตกและสหรัฐตกอยู่ในอันตรายที่ควบคุมยาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงไม่มีข้อมูลของผู้ก่อเหตุมาก่อน ต่างกับผู้ก่อการร้ายที่เจ้าหน้าที่มีรายชื่อเฝ้าระวังอยู่

“ปัญหาสำคัญที่สุดของหน่วยความมั่นคงในตอนนี้คือ เราไม่สามารถรู้แรงจูงใจที่หลากหลายของผู้ก่อเหตุได้ และกระแสเลียนแบบการก่อเหตุรุนแรงเช่นนี้เริ่มจะกระจายไปทั่ว เนื่องจากการก่อเหตุครั้งหนึ่งจะกลายไปเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยทางจิตอื่นก่อเหตุครั้งต่อไป” แจ็ค ไรซ์ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) ระบุ

ด้าน แพทริก เฮนนิงเซน นักวิเคราะห์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ระบุว่า ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นมาในหลายพื้นที่ของยุโรปกำลังจะสร้างกระแสการประกาศภาวะฉุกเฉินในยุโรปให้ขยายตัว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างความหวาดกลัว และก่อผลทางการเมืองที่รุนแรง

นอกจากนี้ รัฐมนตรีมหาดไทยของแคว้นบาวาเรียเสริมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะยิ่งกระทบต่อนโยบายเปิดรับผู้อพยพของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เกิล รวมทั้งทำให้การเมืองในเยอรมนียิ่งตึงเครียด โดยกระตุ้นชาวเยอรมนีให้ยิ่งอ่อนไหวกับประเด็นผู้อพยพ

ยุโรปอันตราย! ผุด "โลนวูล์ฟ" เสพติดความรุนแรง

ภัยใหม่ผู้ป่วยทางจิต-ก่อการร้ายขวาจัด

ราเฟลโล พันตุชชี ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงที่สถาบันคลังสมอง รอยัล ยูไนเต็ด เซอร์วิส ในกรุงลอนดอน กังวลว่า การก่อเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและทำให้ได้รับการพูดถึง จะกลายมาเป็นการปลุกระดมไปสู่การก่อเหตุที่รุนแรงมากกว่าตามมา ในทำนองเดียวกันกับความเห็นของ ไบรซ์ เดอ รูยเวอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญวิทยาจากมหาวิทยาลัยเกนต์ ในเบลเยียม ที่ระบุว่า ผู้ที่มีภาวะเสพติดความรุนแรงจะซึมซับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นตัวกระตุ้นให้อยากก่อเหตุรุนแรงที่ใหญ่ขึ้น

ส่วนเจ้าหน้าที่ความมั่นคงสหรัฐ ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในยุโรปและสหรัฐสะท้อนความจำเป็นที่ต้องพัฒนาความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวกรองและการควบคุมภัยอันตรายที่เกิดจากผู้มีปัญหาทางจิต โดยในปัจจุบันพลเมืองทั่วโลกกำลังอยู่กับความหวาดกลัวทั้งจากภัยก่อการร้าย ทั้งจากผู้ที่มีความคิดสุดโต่ง และผู้ที่มีปัญหาทางจิต ซึ่งกลายมาเป็น 2 ปัญหาที่เจ้าหน้าที่ต้องรับมือ

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของยุโรประบุว่า การติดตามเครือข่ายก่อการร้ายเป็นไปได้ง่ายกว่าผู้ที่ก่อเหตุลำพัง เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีข้อมูลข่าวกรองของผู้ที่ต้องเฝ้าระวังก่อการร้าย อีกทั้งยังมีความกังวลเกี่ยวกับการก่อเหตุจากกลุ่มหัวรุนแรงขวาจัดในยุโรปเพิ่มขึ้นมาเป็นปัญหาให้หน่วยข่าวกรองยุโรปในช่วงที่ผ่านมาซ้ำอีก

ตำรวจยุโรป (ยูโรโพล) เปิดเผยรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มีการจับกุมผู้ที่มีแนวคิดอิสลามสุดโต่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2015 และยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการจับกุมผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งในยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน ซึ่งสะท้อนว่า ทุกคนสามารถถูกทำให้เป็นหัวรุนแรงได้ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง