posttoday

ลุ้นอาเซียนเปลี่ยนกฎ หวังออกแถลงร่วมทะเลจีนใต้

25 กรกฎาคม 2559

กรณีพิพาททะเลจีนใต้เป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามองและแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

กรณีพิพาททะเลจีนใต้เป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามองและแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ระหว่างวันที่ 24-26 ก.ค.นี้ ที่กรุงเวียงจันทน์ ของลาว ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่า อาเซียนจะล้มเหลวในการหามติร่วมอีกครั้งเหมือนเช่นในปี 2012 เนื่องจากกัมพูชาและลาวซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของจีนมีท่าทีหลีกเลี่ยงการเจรจาเรื่องดังกล่าว แม้ว่าจะมีชาติสมาชิก 4 ชาติ คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน อ้างพื้นที่ทับซ้อนกับจีน

หนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่า หนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือ การผลักดันให้มีการเปลี่ยนกฎพิจารณาออกนโยบายหรือแถลงการณ์ร่วม ไปใช้ระบบเสียงส่วนใหญ่แทนระบบที่ต้องใช้มติเอกฉันท์ ในปัจจุบันซึ่งทุกประเทศต้องตกลงเห็นด้วย จึงสามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ ทำให้อาเซียนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมรับรองคำตัดสินของศาลกรณีทะเลจีนใต้ได้ เนื่องจากประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนบางรายออกเสียงคัดค้าน

ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศ เปิดเผยว่า หนึ่งในวิธีการที่เป็นไปได้คือการนำรูปแบบที่ใช้ในนโยบายด้านเศรษฐกิจมาใช้กับนโยบายด้านความมั่นคง โดยจะบังคับใช้นโยบายตามความพร้อมหรืออนุญาตให้บางประเทศยืดเวลาการรับข้อตกลงบางประการออกไปได้ เช่น มาตรการยกเลิกภาษีการค้าที่สมาชิกบางรายเริ่มปรับใช้ไปแล้ว แต่ก็ยังยืดเวลาให้สำหรับประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยที่สุด 4 ประเทศสมาชิก ในการปรับใช้มาตรการตามมาในภายหลัง

ยูอาน กราแฮม กรรมการหน่วยความมั่นคงระหว่างประเทศ ของสถาบันเพื่อนโยบายระหว่างประเทศ โลวี ในออสเตรเลีย ระบุว่า อาเซียนจะเอาตัวรอดได้ก็ต่อเมื่อปรับระบบเปิดเสรีตามความพร้อมของบางประเทศสำหรับนโยบายด้านความมั่นคงที่ไม่มีฉันทามติเช่นเดียวกับที่ใช้ในระบบการค้า อย่างไรก็ดีแม้แต่การจะเปลี่ยนรูปแบบของกฎดังกล่าวก็ยังต้องการฉันทามติ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่บรรดาพันธมิตรของจีนจะขัดขวาง

แหล่งข่าวทางการทูตเปิดเผยกับวอลสตรีทเจอร์นัล ว่า จีนได้กดดันประเทศสมาชิกอาเซียนที่พึ่งพาการค้าการลงทุนอย่างมากจากจีน เพื่อให้ขัดขวางการประกาศสนับสนุนคำตัดสินของศาลในนามอาเซียน เป็นผลให้กัมพูชายืนกรานคัดค้านการออกแถลงการณ์ร่วมที่มีการกล่าวถึงเรื่องทะเลจีนใต้ โดยก่อนหน้านี้จีนได้ประกาศให้ความช่วยทางการเงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในกัมพูชา 600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.09 หมื่นล้านบาท) เพียงไม่นานหลังการอ่านคำพิพากษาของศาล แม้จีนจะปฏิเสธว่าความช่วยเหลือดังกล่าวไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองก็ตาม

อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ของกัมพูชา ก็ได้ส่งสัญญาณเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมองเรื่องทะเลจีนใต้เป็นประเด็นขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ และไม่สนับสนุนให้นำมาเป็นประเด็นหารือในอาเซียน ขณะที่ลาวซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมก็ยังคงสงวนท่าทีในการยกประเด็นทะเลจีนใต้มาเจรจา

สวนทางกับความเห็นของสมาชิกส่วนใหญ่ที่สนับสนุนการออกแถลงการณ์ร่วมรับคำตัดสินของศาล โดยฟิลิปปินส์และเวียดนามยืนกรานให้ใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนและรุนแรงขึ้นในแถลงการณ์เรื่องทะเลจีนใต้ เนื่องจากทั้งสองเป็นชาติที่กระทบกระทั่งกับจีนมากที่สุดในประเด็นพิพาททางทะเล

ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการเจรจาระดับภูมิภาคครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ศาลอนุญาโตตุลาการที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ตัดสินปฏิเสธการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน ไปเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา สร้างความตึงเครียดในภูมิภาคอย่างรุนแรง โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่เป็นผู้ยกเรื่องฟ้องศาลเมื่อปี 2012 ขณะที่จีนย้ำจุดยืนจะใช้ทุกมาตรการเพื่อปกป้องอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้และไม่ยอมรับคำตัดสิน

สหรัฐหนุนอาเซียนหามติร่วม

ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียก็ได้จัดการเจรจาข้างเวที เพื่อหาแนวทางผลักดันสู่การประชุมใหญ่ในวันต่อไป ซึ่งจะมี จอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ และ หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชียอื่นๆ เข้าร่วม โดยมีเป้าหมายกระตุ้นให้กัมพูชายอมรับความเห็นหลายประเทศ

“การเจรจาข้างเวทีนี้ เป็นพื้นที่รับฟังความต้องการของอาเซียนโดยรวม เพื่อหามาตรการป้องกันไม่ให้มีปัจจัยกดดันจากภายนอกเข้ามาลดทอนความมั่นคงของภูมิภาคนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคืออาเซียนต้องสะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวก่อน” เรต์โน มาซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ระบุ

ขณะที่ แคร์รี ก็ได้เรียกร้องให้อาเซียนหามติร่วมกันในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่การใช้การทูตเจรจากับจีน โดยที่ผ่านมาสหรัฐก็ได้พยายามผลักดันให้ฟิลิปปินส์และอาเซียนต่อต้านการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน และเน้นย้ำถึงสิทธิในการเดินเรือโดยเสรีในน่านน้ำระหว่างประเทศ

ทว่า หวังอี้ ก็ได้ตอบโต้ว่า การบังคับให้ทุกประเทศอาเซียนแสดงจุดยืนเป็นหนึ่งเดียวในประเด็นดังกล่าว เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับการเจรจาหารือกันเพื่อหามติเอกฉันท์ เนื่องจากแต่ละประเทศในอาเซียนต่างก็มีจุดยืนและผลประโยชน์ที่ต่างกันในเรื่องทะเลจีนใต้ ขณะที่บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนต่างคาดหวังให้จีนอ่อนท่าทีลงในอนาคต โดยหนึ่งในเจ้าหน้าที่ทางการทูตของอาเซียน ระบุว่า ในขณะนี้สิ่งที่ดีที่สุดคือการรอให้สถานการณ์สงบลงก่อน

ทั้งนี้ หลายฝ่ายกังวลว่า ความล้มเหลวในการตอบรับคำตัดสินของศาลอาจจะกลายเป็นปัจจัยบ่งชี้ทิศทางนโยบายในอนาคตของอาเซียนที่ไม่มีความชัดเจนและเป็นเอกภาพ รวมทั้งยังอาจจะเป็นการลดความน่าเชื่อถือและอิทธิพลทางการทูตของอาเซียนในอนาคต