posttoday

โหวต "เบร็กซิต" ทวงคืนอัตลักษณ์อังกฤษ

26 มิถุนายน 2559

กลุ่มเบร็กซิตต้องการภาพลวงตา ซึ่งเป็นความรู้สึกอ่อนไหวที่ผูกติดกับมายาคติคร่ำครึของความเป็นอังกฤษ ที่ไม่มีอยู่จริงในปัจจุบัน

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

การทำประชามติออกหรือไม่ออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษได้ผลที่คาดไม่ถึง โดยกลุ่มที่สนับสนุนให้ออกจากอียู หรือ “เบร็กซิต” คว้าชัยไป 52% ต่อ 48% และกลุ่มที่ทำให้เบร็กซิตคว้าชัยอย่างไม่มีใครคาดคิดในครั้งนี้ คือ กลุ่มคนผู้สูงอายุ

จากผลสำรวจของยูโกฟก่อนหน้าการทำประชามติในวันที่ 23 มิ.ย. พบว่า ยิ่งประชากรอายุมากขึ้นเท่าไร สัดส่วนฝ่ายสนับสนุนต้องการออกจากอียูก็เพิ่มขึ้นไปด้วย โดยกลุ่มที่อายุ 18-24 ปี ต้องการออกจากอียูคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 20% ขณะที่ประชากรที่อายุเพิ่มขึ้นมาระหว่าง 25-49 ปี ต้องการเบร็กซิตคิดเป็น 40% และประชากรที่อายุระหว่าง 50-64 ที่ 51% รวมถึงประชากรอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ต้องการให้ออกจากสหภาพอียูมากถึง 59%

ประเด็นในด้านเศรษฐกิจและการเมืองเป็นเรื่องทางเหตุผลที่ประชาชนใช้ในการตัดสิน แต่นิตยสารไทมส์ รายงานว่า เหตุผลด้านจิตวิทยาต่างหากที่เป็นตัวตัดสินเบร็กซิต

“ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมต่างรู้ว่า อัตลักษณ์ต่อกลุ่มจะส่งพลังมากขึ้น เมื่อใครสักคนรู้สึกว่าตัวเองมีอิทธิพลต่อกลุ่มนั้น ผมมีความรู้สึกว่า กลุ่มต่อต้านยุโรปต้องการออก เพราะว่า พวกเขารู้สึกว่าอังกฤษไม่ได้มีอิทธิพลต่อยุโรป” ฟาบิโอ ซานี นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยดันดี ในสกอตแลนด์ กล่าว

อีกหนึ่งเหตุผลของประชากรที่อายุมากกว่านั้น สำนักข่าวบีบีซีระบุว่า เป็นเพราะอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ผู้สูงอายุเหล่านั้นต้องการรักษาไว้ รวมถึงกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า ไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของอียู ซึ่งเป็นประเด็นที่ฝ่ายสนับสนุนเบร็กซิตใช้เป็นประเด็นในการหาเสียงการทำประชามติ

บีบีซี ระบุว่า ความกังวลเกี่ยวกับผู้อพยพจากอียูมีมานานมากกว่า 10 ปีแล้ว และจะมีต่อไปอีก 20 ปี ส่งผลกระทบต่อทั้งทางเศรษฐกิจ ซึ่งกลุ่มรายได้น้อยต่างกลัวที่จะเสียงานให้กับผู้อพยพและถูกกดค่าแรง และผลกระทบทางสังคม จากการถูกผู้อพยพกลืนวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของความเป็นอังกฤษไป

อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับอียูไม่ได้สัมผัสถึงอัตลักษณ์ดังกล่าว และตัดสินใจเลือก “อยู่” หรือ “ไป” จากผลประโยชน์ที่จะได้รับกับการอยู่กับอียูมากกว่า

ริชาร์ด โอเวอรี ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ เปิดเผยว่า ชาวอังกฤษต้องการความเป็นอังกฤษกลับคืนมา และไม่ชื่นชอบแนวคิดเหนือรัฐ ซึ่งจะรวมยุโรปเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ธงของอียู อย่างไรก็ตาม อังกฤษเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์มาหลายทศวรรษ ดังนั้น อัตลักษณ์ที่กลุ่มเบร็กซิตต้องการจึงเป็นเพียงมายาคติคร่ำครึที่ไม่มีอยู่จริงในปัจจุบัน

“กลุ่มเบร็กซิตต้องการภาพลวงตา ซึ่งเป็นความรู้สึกอ่อนไหวที่ผูกติดกับมายาคติคร่ำครึของความเป็นอังกฤษ ที่ไม่มีอยู่จริงในปัจจุบัน” โอเวอรี กล่าว

คนรุ่นใหม่ยังไม่ยอมแพ้

จากผลสำรวจของยูโกฟ พบว่า ประชาชนชาวอังกฤษที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ต้องการที่จะอยู่กับอียูต่อไปมากถึง 72% ก่อนการทำประชามติ และกลุ่มดังกล่าวก็ต้องผิดหวังเมื่อพ่ายในการทำประชามติ จนกระทั่งมีการติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ว่า #notinmyname หรือการออกจากอียูของอังกฤษไม่ได้เป็นไปในนามของคนที่สนับสนุนอียูเหล่านั้น

นิโคลัส บาร์เรตต์ รองบรรณาธิการจากเว็บไซต์เดอะสตริกซ์ เว็บไซต์ข่าวสารการเมืองและวัฒนธรรม เขียนบทความลงไฟแนนเชียลไทมส์ ว่า กลุ่มคนวัยทำงานเลือกที่จะออกจากอียูเป็นเพราะเสี่ยงจะเสียงานจากการเข้ามาของผู้อพยพ อย่างไรก็ตาม กลุ่มวัยหนุ่มสาวก็ต้องเสียโอกาสการเข้าทำงานในอีก 27 ประเทศอียูไป เพราะอังกฤษเลือกจะออกจากสหภาพ

ขณะเดียวกัน ประชาชนกลุ่มที่สนับสนุนให้อยู่กับอียูต่อไป ก็เปิดล่ารายชื่อร้องทุกข์ในเว็บไซต์ของรัฐสภา และล่ารายชื่อได้มากกว่า 9.1 แสนรายชื่อ เมื่อเวลา 16.19 น. ของวันที่ 25 มิ.ย. หลังตั้งคำร้องได้ไม่นานและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมให้เหตุผลว่า การทำประชามติครั้งนี้ผลคะแนนใกล้เคียงกันมากเกินไป โดยตามกฎหมายของอังกฤษแล้ว หากรายชื่อร้องทุกข์เกิน 1 แสนรายชื่อ รัฐสภาจะต้องพิจารณาคำร้องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทั้งหนังสือพิมพ์อินดิเพนเดนท์และเทเลกราฟ ของอังกฤษ รวมถึงสำนักข่าวอาร์ที ของรัสเซีย ต่างระบุว่า รัฐสภาน่าจะปัดตกคำร้องทุกข์ดังกล่าว เช่นเดียวกับที่ปัดตกคำร้องทุกข์ขอให้มีกัญชาถูกกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งได้รับรายชื่อมากกว่า 2 แสนรายชื่อ