posttoday

จับตาญี่ปุ่นกดค่าเงินเยน

20 มิถุนายน 2559

ตลาดจับตาเบร็กซิตสร้างความชอบธรรม ดันญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินเยน หลังแข็งค่าสุดรอบเกือบ 2 ปี

ตลาดจับตาเบร็กซิตสร้างความชอบธรรม ดันญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินเยน หลังแข็งค่าสุดรอบเกือบ 2 ปี

บลูมเบิร์กรายงานอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์หลายฝ่าย ว่าตลาดกำลังมุ่งจับตาท่าทีของรัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) หลังวันที่ 23 มิ.ย. ที่อังกฤษจะจัดการลงประชามติว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) หรือไม่ เนื่องจากจะเป็นเหตุผลอันชอบธรรมให้ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนที่กำลังแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 20 เดือน

อลัน รัสกิน หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ค่าเงิน 10 สกุลหลักของธนาคารดอยช์แบงก์ เปิดเผยว่า หากอังกฤษตัดสินใจโหวตออกจะทำให้เกิดความผันผวนอย่างหนักในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างค่าเงินเยนที่อาจแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 100 เยน/เหรียญสหรัฐได้ ซึ่งจะถือเป็นความชอบธรรมให้บีโอเจใช้เป็นเหตุผลเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนตามมา

ทั้งนี้ ที่ประชุมบีโอเจระหว่างวันที่ 15-16 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติไม่ดำเนินมาตรการผ่อนคลายใดๆ เพิ่มเติม ส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น 2.6% ในสัปดาห์ที่แล้ว ไปแตะระดับ 103.55 เยน/เหรียญสหรัฐ หรือแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2014 รวมแล้วตลอดทั้งปีนี้แข็งค่าขึ้นไปแล้วกว่า 15% และยังแข็งค่าขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับเงินยูโรในสัปดาห์ที่แล้ว

นักวิเคราะห์อีกหลายคนจากธนาคารแห่งโตเกียว มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ธนาคารสแตนดาร์ด แบงก์ กรุ๊ป บริษัท พรูเด็นเชียล ไฟแนนเชียล ธนาคารรอยัล แบงก์ ออฟ แคนาดา และธนาคารโดมิเนียน ในแคนาดา ต่างระบุตรงกันว่า กำลังจับตาดูการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของญี่ปุ่น

“สิ่งที่น่าจะเป็นตัวเร่งต่อการเข้าแทรกแซงของญี่ปุ่นมากที่สุดในเวลานี้ น่าจะเป็นผลของเบร็กซิตในมุมมองของผม ผลโหวตออกจะส่งผลให้เกิดความผันผวนอย่างรุนแรงขึ้นต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก” ชาฮับ จาลินูส หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์อัตราแลกเปลี่ยนโลก ของธนาคารเครดิตสวิสในนิวยอร์ก กล่าว

ด้าน เว็บไซต์มาร์เก็ตวอตช์ รายงานว่า ค่าเงินเยนกำลังอยู่ระหว่างบททดสอบของการแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 100 เยน/เหรียญสหรัฐ เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปลายปี 2013 เป็นต้นมา จากปัจจัยเสี่ยงภายนอก

มาร์วิน โลห์ นักยุทธศาสตร์ตลาดทุนโลกจากธนาคารบีเอ็นวาย เมลลอน กล่าวว่า การซื้อขายเพื่อปิดความเสียงจากปัจจัยเบร็กซิตในขณะนี้ ทำให้ทั้งตลาดสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ปลอดภัยได้รับผลกระทบอย่างหนักในเวลาเดียวกัน และจุดทดสอบค่าเงินเยนครั้งนี้ก็จะเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่ต่อตลาดทุน

ก่อนหน้านี้ ทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ได้กล่าวเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ว่าต้องการดำเนินมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับกลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ (จี20) และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (จี7) เพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเคยส่งสัญญาณเป็นนัยเรื่องการแทรกแซงค่าเงินระหว่างการประชุม จี7 ครั้งที่ผ่านมา ทว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาติสมาชิกโดยเฉพาะสหรัฐ ขณะที่การเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อปี 2011 เนื่องจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่

ภาพ...เอเอฟพี