posttoday

ญี่ปุ่นเสี่ยงเจอหั่นเรตติ้ง

31 พฤษภาคม 2559

มิซูโฮเตือนญี่ปุ่นเสี่ยงโดนลดเครดิต-ต้นทุนทำธุรกิจสูง หากเลื่อนขึ้นภาษีขาย หลังเศรษฐกิจอ่อนแอ

มิซูโฮเตือนญี่ปุ่นเสี่ยงโดนลดเครดิต-ต้นทุนทำธุรกิจสูง หากเลื่อนขึ้นภาษีขาย หลังเศรษฐกิจอ่อนแอ

โยซูฮิโร ซาโตะ ประธานของธนาคารมิซูโฮ ธนาคารใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอร์นัลว่า หากนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ประกาศเลื่อนขึ้นภาษีขายจาก 8% เป็น 10% ซึ่งมีกำหนดการเดิมที่เดือน เม.ย. 2017 ออกไปนั้น อาจส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่น และสร้างความกังวลต่อแผนการทางการคลังของญี่ปุ่น

“สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือ รัฐบาลประกาศเลื่อนขึ้นภาษีขายออกไป จะกลายเป็นการส่งสัญญาณว่า อาเบะโนมิกส์ล้มเหลว หรือญี่ปุ่นกำลังมุ่งหน้าสู่หายนะทางการคลัง และเมื่อนั้นก็จะกระทบเครดิตเรตติ้งของชาติ” ซาโตะ กล่าว โดยหนึ่งในนโยบายของอาเบะโนมิกส์ คือ การสร้างความมั่นคงทางการคลังให้งบประมาณเกินดุลในปี 2020 ขณะที่หนี้สาธารณะญี่ปุ่นอยู่ที่ 229.20% ต่อขนาดเศรษฐกิจ

ประธานมิซูโฮ ระบุด้วยว่า ไม่ว่าจะขึ้นภาษีการขายหรือไม่ ญี่ปุ่นก็ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมีแผนการปรับโครงสร้างทางการคลังให้ชัดเจน นอกจากนี้ การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจะส่งผลให้ต้นทุนในสกุลเหรียญสหรัฐสูงขึ้นมากกว่าเดิมจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง

ก่อนหน้านี้ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับเครดิตชื่อดัง เปิดเผยในรายงานประจำเดือน มี.ค. ว่า การเลื่อนขึ้นภาษีขายของญี่ปุ่นไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะสร้างภาระทางการคลังอย่างมากกับญี่ปุ่น โดยมูดี้ส์ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่น หลังอาเบะเลื่อนขึ้นภาษีขายไปในเดือน พ.ย. 2014 เช่นเดียวกับสถาบันจัดอันดับอื่นๆ เช่น สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) และฟิทช์ เรทติ้งส์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันญี่ปุ่นเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือน เม.ย. ปรับตัวลง 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแม้จะลดลงน้อยกว่าที่ผลสำรวจบลูมเบิร์กคาดการณ์เอาไว้ที่ปรับตัวลง 1.2% แต่ก็แสดงถึงการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว ยิ่งเพิ่มแนวโน้มให้อาเบะประกาศเลื่อนขึ้นภาษีขายออกไปอีก

ด้านสำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และเรื่องอื้อฉาวข้อมูลการประหยัดพลังงาน ทำให้ยอดการผลิตปรับตัวลง เช่น การผลิตภายในญี่ปุ่นของโตโยต้า มอเตอร์ ร่วงลง 18.8% ในเดือน เม.ย. ขณะที่นิสสัน มอเตอร์ ร่วง 22.3% และมิตซูบิชิ ปรับตัวลง 14.9% 

ภาพ...เอเอฟพี