posttoday

ทางเดินของ "ทรัมป์" พูดให้โดนชี้ให้ตรง

29 พฤษภาคม 2559

วินาทีนี้คงไม่มีผู้สมัครคนไหนดังไปกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตัวแทนพรรครีพับลิกันสู้ศึกประธานาธิบดี

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

วินาทีนี้คงไม่มีผู้สมัครคนไหนดังไปกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตัวแทนพรรครีพับลิกันสู้ศึกประธานาธิบดี แม้ทรัมป์ชูนโยบายที่ใครๆ ก็พากันส่ายหัว เช่น นโยบายสร้างกำแพงชายแดนเม็กซิโกเพื่อลดปัญหาอาชญากรรม หรือแม้กระทั่งห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศเพราะเกรงกลัวก่อการร้าย

“ไม่มีใครคิดว่าทรัมป์จะมาได้ขนาดนี้ ทรัมป์เล่นไปในจังหวะของตัวเขาเอง และดูเหมือนว่าจังหวะนั้นจะเป็นจังหวะที่ถูกต้อง” ไมเคิล บลูมเบิร์ก อดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์ก กล่าว

วิลเลียม แกสตัน สมาชิกอาวุโสสถาบันบลูกกิ้ง สถาบันคลังสมองที่เชี่ยวชาญการเมืองและเศรษฐกิจ ในกรุงวอชิงตัน เปิดเผยว่า การใช้คำพูดของทรัมป์นั้นมีลักษณะไม่เหมือนกับนักการเมืองและเสมือนกับบุคคลในครอบครัวที่ชอบใช้เสียงดังบนโต๊ะอาหารเสียมากกว่า ส่งผลให้การส่งสารมีความชัดเจน โดยสารของทรัมป์ยังเป็นการนำปัญหาที่ทั้งสองพรรคใหญ่ละเลย เช่น การทุ่มงบประมาณมหาศาลในต่างประเทศหลังวินาศกรรมวันที่ 11 ก.ย. 2001

จุดแข็งที่สำคัญที่สุดของทรัมป์ คือ การกล้าพูดในสิ่งที่ประชาชนคิดมานานแล้ว เช่น การกลัวจะเสียงานมาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ซึ่งทำให้ผู้คนตกงานมากถึง 2.6 ล้านคนภายใน 1 ปี และด้วยเหตุนั้นเองที่ก่อให้เกิดความแค้นเคืองต่อกลุ่มทุนวอลสตรีท ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตดังกล่าว

จากผลสำรวจของวอลสตรีท เจอร์นัล พบว่า ในด้านเศรษฐกิจ ทรัมป์มีคะแนนนำเหนือ ฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต โดย 21% คิดว่าทรัมป์จะสามารถจัดการกับกลุ่มทุนวอลสตรีท ซึ่งหนุนหลังฮิลลารีอยู่ได้ และปกป้องชาวอเมริกันจากการค้าระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์ก ระบุว่า นับจากนี้ต่อไป จะเป็นบทพิสูจน์ทรัมป์ว่าเป็นผู้ที่สามารถคว้าตำแหน่งประธานาธิบดีได้หรือไม่

ประเทศไม่ใช่บริหารธุรกิจ

แกสตัน เปิดเผยว่า ทรัมป์มีข้อเสียมากมายทั้งในด้านความรู้ ประสบการณ์ และการควบคุมตัวเอง เนื่องจากภาพลักษณ์ของประธานาธิบดีคือภาพลักษณ์ของประเทศ ดังนั้นทรัมป์ที่ภาพลักษณ์ไม่ค่อยดีนั้น จึงเป็นจุดอ่อนสำคัญที่จะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงหันหลังให้

นอกจากนี้ ชาวอเมริกันยังไม่นิยมประธานาธิบดีที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และอาจก่อเหตุที่ไม่คาดฝัน ในขณะเดียวกันประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจไม่สามารถใช้ได้กับการบริหารประเทศ เนื่องจากการทำธุรกิจ ลูกน้องจะเชื่อฟังเจ้านาย แต่ในสภา นักการเมืองไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังประธานาธิบดี จึงไม่สามารถบริหารประเทศได้เสมือนบริหารธุรกิจ

ด้านบลูมเบิร์กระบุว่า ผู้สมัครไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน ก็จำเป็นต้องมีนโยบายที่เห็นภาพ เช่น ผู้สมัครกล่าวว่า จะสร้างงาน คำถามที่ตามมาคือ แล้วจะสร้างงานได้อย่างไร

ดึงฐานเสียงจากเดโมแครต

ฐานเสียงที่ว่า คือฐานเสียงของ เบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครต โดยจากผลสำรวจของเมอร์คิวรี อนาไลติกส์ พบว่า 20% ของผู้สนับสนุนเดโมแครตจะโหวตให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ หากฮิลลารีเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต

“ผมคิดว่าผมจะได้คะแนนเสียงนับล้านจากเดโมแครต และผมจะได้รับคะแนนเสียงจากผู้สนับสนุนเบอร์นี” ทรัมป์ กล่าว

ขณะเดียวกัน หลังจากที่มีแนวโน้มจะได้เป็นตัวแทนพรรคเกือบ 100% แล้ว ทรัมป์มีท่าทีอ่อนลงต่อนโยบายต่างๆ เช่น การออกมาประกาศว่า การห้ามมุสลิมเข้าประเทศนั้นไม่ใช่นโยบาย แต่เป็นแค่ข้อเสนอแนะเท่านั้น รวมถึงหากนำไปใช้ปฏิบัติจริง จะเป็นการบังคับใช้เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์กลับชูนโยบายเพื่อเอาใจบริษัทน้ำมัน และพร้อมที่จะยุบนโยบายพลังงานทดแทนของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ทิ้ง ซึ่งจุดยืนขั้วตรงข้ามกับการจัดการปัญหาเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นคนละจุดยืนกับแซนเดอร์ส

ทรัมป์จะสามารถดึงฐานเสียงของแซนเดอร์สมาได้หรือไม่ ยังต้องจับตากันต่อไป โดยฐานเสียงที่คล้ายคลึงกันของทั้งคู่ ยังทำให้แซนเดอร์สถึงขั้นท้าโต้วาทีกับทรัมป์ และผู้สมัครฝีปากกล้าก็รับคำท้าดังกล่าว และพร้อมเผชิญหน้ากันในวันที่ 7 มิ.ย.ที่จะถึงนี้

ภาพ...เอเอฟพี