posttoday

ผลสำรวจธนาคารโลกชี้บริษัทไทยโปร่งใสน้อย

11 เมษายน 2559

ธนาคารโลกให้คะแนนความโปร่งใสของบริษัทไทยสิทธิผู้ถือหุ้นและบรรษัทภิบาลต่ำ

ธนาคารโลกให้คะแนนความโปร่งใสของบริษัทไทยสิทธิผู้ถือหุ้นและบรรษัทภิบาลต่ำ

เวิลด์แบงก์ ดูอิ้ง บิซิเนส 2016 ประกาศผลสำรวจผลกระทบของกฎหมายและการควบคุมในธุรกิจท้องถิ่นซึ่งสะท้อนความสะดวกในการเข้าไปดำเนินธุรกิจ พบว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 36 ใน 189 ประเทศ ที่ปกป้องนักลงทุนรายย่อยมาก กฎหมายในประเทศไทยและการควบคุมธุรกิจอยู่บนพื้นฐานและหลักปฏิบัติที่สูง โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานกำกับที่ได้คะแนนเต็ม

ทั้งนี้ แม้ว่าคะแนนอันดับของประเทศไทยจะสูงกว่ามาตรฐานประเทศในเอเชียและองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) แทบทุกด้าน แต่มี 2 ด้านที่ไทยคะแนนยังต่ำกว่า คือ ดัชนีสิทธิของผู้ถือหุ้นที่ได้เพียง 5 คะแนน เทียบกับเอเชียที่ได้ 5.3 และโออีซีดีที่ได้ 7.3 คะแนน ความโปร่งใสของบริษัทไทยได้คะแนนเพียง 4 เทียบกับเอเชียที่ได้ 4.2 และโออีซีดีที่ได้ 6.4 คะแนน รวมถึงบรรษัทภิบาลของผู้ถือหุ้นยังต่ำเพียง 5 คะแนน เทียบกับเอเชียที่ได้ 4.6 และโออีซีดีที่ได้ 6.4 คะแนน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำคะแนนได้สูง เพราะเพิ่งมีการแก้ไขพระราชบัญญัติพัฒนาตลาดทุน ปี 2535 ที่กำหนดเงื่อนไขการตั้งสำรองและบทบาทความรับผิดชอบของผู้บริหารบริษัทและสิทธิของผู้ถือหุ้นในการจัดการ

อย่างไรก็ตาม เวิลด์แบงก์ ดูอิ้ง บิซิเนส เป็นผลสำรวจสภาพแวดล้อมของการกำกับที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจโดยเน้นที่กฎเกณฑ์ กฎหมาย การควบคุม และขั้นตอนทางธุรกิจสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ในประเทศ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เป็นดัชนีในการเริ่มต้นทำธุรกิจ การทำธุรกรรม การให้เครดิต การปกป้องนักลงทุน การจ่ายภาษี การซื้อขายข้ามประเทศ และการบังคับใช้สัญญา

ภาพ...เอเอฟพี