posttoday

ชำแหละปานามาเปเปอร์ส "เอเชีย" ตลาดใหญ่ออฟชอร์

08 เมษายน 2559

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

หลังเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ไอซีไอเจ) และสำนักข่าวหลายแห่งร่วมกันเปิดโปงข้อมูลของนักการเมือง นักธุรกิจ และผู้มีชื่อเสียงจากทั่วโลกต่างหลบเลี่ยงภาษีด้วยการตั้งบริษัทนอกอาณาเขต (ออฟชอร์) ผ่านความช่วยเหลือของสำนักงานกฎหมาย มอสแซ็ค ฟอนเซกา ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้มีอิทธิพลและชนชั้นนำในประเทศเหล่านี้อย่างแพร่หลาย ขณะที่ข้อมูลจากเอกสารที่รั่วไหลดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ไอซีไอเจเปิดเผยรายงานเพิ่มเติมว่า ลูกค้าที่ตั้งบริษัทออฟชอร์ผ่านมอสแซ็ค ฟอนเซกา จำนวนเกือบ 1 ใน 3 หรือ 29% ของลูกค้าทั่วโลกมาจากฮ่องกงและจีน ได้ก่อตั้งบริษัทออฟชอร์ทั้งหมดเกือบ 4 หมื่นแห่ง ทำให้ภูมิภาคเอเชียกลายเป็นตลาดใหญ่สุดของ มอสแซ็ค ฟอนเซกา โดยบริษัทออฟชอร์ที่ก่อตั้งขึ้นมีผู้ถือหุ้นและร่วมก่อตั้งโดยสมาชิกในครอบครัวเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในประเทศ

รายงานดังกล่าวระบุว่า มอสแซ็ค ฟอนเซกา ได้จัดตั้งสาขาย่อยในฮ่องกง ซึ่งเป็นสาขาที่มีการดำเนินธุรกรรมคับคั่งที่สุดในเอเชีย และในเมืองใหญ่ของจีนอีก 8 แห่ง เพื่อดำเนินการให้กับบริษัทออฟชอร์มากกว่า 1.63 หมื่นแห่งในสองพื้นที่ดังกล่าว โดยมีผู้ร่วมถือหุ้นเป็นคนดังชาวจีน อาทิ เฉินหลงและพี่เขยของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน

ยิ่งไปกว่านั้น ไอซีไอเจ เปิดเผยว่า เอกสารของ มอสแซ็ค ฟอนเซกา ปรากฏรายชื่อเครือญาติของคณะกรรมการกรมการเมืองจีน (โปลิตบูโร) 8 คน จากทั้งหมด 25 คน มีส่วนในการก่อตั้งบริษัทออฟชอร์ในดินแดนเลี่ยงภาษี โดยในจำนวนนี้ยังมีรายชื่อลูกเลี้ยงของกรรมการถาวร 2 คน คือ หลิว หยุนชาน ซึ่งเป็นกรรมการลำดับที่ 5 และ จาง เกาลี่ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกรรมการลำดับที่ 7 แห่งคณะกรรมการถาวรของโปลิตบูโร ที่ทรงอำนาจทางการเมืองที่สุดของจีนด้วย

อย่างไรก็ตาม แอนดริว เวดแมน นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐจอร์เจีย ในสหรัฐ ระบุกับเว็บไซต์ข่าว อีโคโนมิกส์ไทมส์ ว่า การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการทางการเงินดังกล่าว ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อสีจิ้นผิง และเชื่อว่าทางการจีนจะสามารถจำกัดผลกระทบได้ เนื่องจากที่ผ่านมาสีจิ้นผิงได้ดำเนินการปราบปรามการทุจริตอย่างแข็งกร้าว และแสดงให้สาธารณชนเห็นว่าสามารถลงโทษสมาชิกในครอบครัวที่ทุจริตได้ โดยบุคคลในครอบครัวที่ถูกลงโทษทั้งหมดต่างให้การต่อสาธารณะว่า ไม่ได้ดำเนินการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวผู้นำจีน ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ผู้นำจีน

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังไม่มีส่วนที่พาดพิงถึงตัวสีจิ้นผิง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์โดยตรง รวมทั้งวัตถุประสงค์ของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นก็ยังไม่แน่ชัดว่าผิดกฎหมายหรือไม่

ขณะที่ทางการจีนได้สั่งแบนการเข้าถึงเอกสารดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีน รวมทั้งสั่งลบข้อความในสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ที่รายงานเรื่องเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่และนักการเมืองจีน

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของอินโดนีเซีย (เคพีเค) ระบุว่า กำลังทบทวนรายชื่อพลเมืองและบริษัทสัญชาติอินโดนีเซียกว่า 2,000 รายชื่อ ที่ปรากฏอยู่ในปานามาเปเปอร์ส โดยในจำนวนนี้มีรายชื่อของซานเดียกา อูโน นักธุรกิจผู้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ปี 2017 นี้ และ มูฮัมหมัด ริซา ชาลิด นักธุรกิจด้านน้ำมัน รวมทั้ง ดีโจโก โซเกียโต ทีจันทรา นักโทษจากคดีการทุจริตธนาคารบาหลี ซึ่งลี้ภัยอยู่ในต่างแดน

เลาเด เอ็ม ชาริฟ ผู้ช่วยประธานเคพีเค ระบุว่า การทำธุรกรรมและออมเงินในบัญชีธนาคารในต่างชาติ เป็นอุปสรรคสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นปัญหาที่เจ้าหน้าที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ และการจะนำปานามาเปเปอร์สมาใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีได้ จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่จากหลายประเทศ

นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังปรากฏชื่อของโมฮัมเหม็ด นาซีฟุดดีน บิน โมฮัมเหม็ด นาจิบ บุตรชายของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซีย เป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทออฟชอร์ 2 แห่ง ในหมู่เกาะบริติชเวอร์จินซึ่งก่อตั้งในปี 2009 และปี 2012

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นฟรีมาเลเซีย เปิดเผยความเห็นของ นาซี อาซิส รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยว ว่า การเก็บเงินในต่างประเทศไม่ได้เป็นเรื่องผิดกฎหมายและเป็นสิ่งที่ชาวมาเลเซียทุกคนสามารถทำได้