posttoday

ธุรกิจอังกฤษเสียงแตก "อยู่" หรือ "จาก" อ้อมอกอียู

28 มีนาคม 2559

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

แมทธิว เอลเลียท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) โหวตลีฟ องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจสนับสนุนให้อังกฤษออกจากอียู โดยผู้นำธุรกิจราว 250 คนร่วมลงชื่อสนับสนุน ซึ่งรวมถึงไมเคิล จอเกแกน อดีตซีอีโอของเอชเอสบีซี กรุ๊ป และทิม มาร์ติน ประธานและผู้ก่อตั้ง เจดี เวเธอร์สปูน กลุ่มธุรกิจผับและโรงแรมรายใหญ่ในอังกฤษ เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจสนับสนุนการออกจากอียูเหมือนกัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ด้วยรายชื่อคนธุรกิจที่ต้องการออกจากอียูมากขึ้นเรื่อยๆ โหวตลีฟจะแสดงให้เห็นว่าการอยู่กับอียูอาจเป็นผลดีกับบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ แต่สำหรับธุรกิจรายใหญ่ การอยู่กับอียูเป็นการทำลายการจ้างงาน” เอลเลียท กล่าว

ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เจ้าของธุรกิจใหญ่ 36 แห่ง หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของบริษัทใหญ่ทั้งหมดของอังกฤษ ออกจดหมายกระตุ้นให้ชาวอังกฤษลงเสียงประชามติอยู่กับอียูในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ เช่น รอยัล ดัตช์ เชลล์ และบีพี บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ รวมถึงบีที บริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ด้วย

ผลการศึกษาของซีบีไอ องค์กรธุรกิจอังกฤษ เปิดเผยว่า การออกจากสหภาพยุโรปจะส่งผลให้สหราชอาณาจักรต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1 แสนล้านปอนด์ (ราว 4.92 ล้านล้านบาท) และยังทำให้สูญการจ้างงานอีก 9.5 แสนอัตราภายในปี 2020 อีกด้วย

หวั่นบอมบ์บรัสเซลส์ส่งอังกฤษออกอียู

ภายหลังเกิดเหตุระเบิดที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา รอยเตอร์สระบุว่า สัดส่วนชาวอังกฤษที่ต้องการลงคะแนนเสียงออกจากอียูปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 36% จากเดิมอยู่ที่ 33% ขณะที่ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษก็อ่อนค่าลงไปทันทีมากกว่า 1% จากความกังวลว่าเหตุการณ์ระเบิดจะทำให้อังกฤษเลือกที่จะออกจากอียู

แม้อังกฤษจะไม่อยู่ในกลุ่มประเทศเชงเกนวีซ่าในการเปิดกว้างพรมแดน แต่การก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับผู้อพยพเป็นเรื่องที่อังกฤษกังวล โดยในปี 2015 ที่ผ่านมา อียูต้องรับผู้อพยพมากถึง 1.8 ล้านคน และในปีนี้ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นในยุโรป

ปีเตอร์ ฟอสเตอร์ บรรณาธิการข่าวยุโรปของหนังสือพิมพ์เทเลกราฟในอังกฤษ ระบุว่า หากผลการสอบสวนออกมาแล้วผู้เหตุก่อเป็นผู้อพยพที่เข้ามาในยุโรปในช่วง 12 เดือนก่อน เช่นเดียวกับที่ผู้ก่อเหตุในกรุงปารีส เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา จะทำให้ทัศนคติต่อผู้อพยพและผู้ที่ต้องการอยู่ร่วมกับผู้อื่นซึ่งมาจากต่างวัฒนธรรมย่ำแย่มากขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ การก่อการร้ายในกรุงบรัสเซลส์เริ่มเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายที่กรุงปารีสมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลักฐานที่ตำรวจรวบรวมได้ โดย ซาเลาะห์ อับเดลสลาม หนึ่งในผู้ก่อเหตุกรุงปารีสก็มีความเชื่อมโยงกับบรรดามือระเบิดที่ก่อเหตุในกรุงบรัสเซลส์

ด้วยเหตุนี้ ไมเคิล เฮย์เดน อดีตผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) และริชาร์ด เดียร์เลิฟ อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของอังกฤษ จึงได้ออกมาแสดงทัศนะว่า การออกจากอียูจะช่วยให้อังกฤษปกป้องตัวเองได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ เห็นแย้งว่า ควรจะอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป เนื่องจากองค์กรของยุโรปหลายองค์กร เช่น สำนักงานตำรวจแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรโพล) หรือยูโรจัตส์ องค์กรจัดการอาชญากรรมข้ามชาติของยุโรป มีประโยชน์ต่อการช่วยป้องกันการก่อการร้ายในอังกฤษได้

ด้าน เดวิด ปีเตรอุส อดีตผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐและผู้อำนวยการซีไอเอ เปิดเผยว่า หากอังกฤษออกจากอียูไป จะส่งผลให้ความมั่นคงของอียูอ่อนแอลง และจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การแยกตัวออกมาเพื่อให้สามารถปกป้องตัวเองได้ เป็นกลยุทธ์ที่พาให้ไปสู่ทางตัน

ภาพ...เอเอฟพี