posttoday

"ซูจี"ว่าราชการหลังม่านดันคนสนิท'ถิ่นจอ' นั่ง ปธน.

11 มีนาคม 2559

อองซานซูจี เลขาธิการพรรคเอ็นแอลดี เสนอชื่อ "ถิ่นจอ" วัย 69 ปี เป็นตัวแทนสภาผู้แทนราษฎรเมียนมา ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

อองซานซูจี เลขาธิการพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) เสนอชื่อ  "ถิ่นจอ" วัย 69 ปี เป็นตัวแทนสภาผู้แทนราษฎรเมียนมา ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ ในขณะที่ทางวุฒิสภาเสนอชื่อ เฮนรี วัน เทียว หนึ่งในผู้นำชนกลุ่มน้อยจากรัฐชิน เข้าชิงตำแหน่งผู้นำคนใหม่ ส่วนพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ของฝ่ายกองทัพ เสนอชื่อ คิมอ่องมวน และไซหมวกคำ ขึ้นชิงตำแหน่งดังกล่าว ที่จะเลือกอย่างเป็นทางการในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ ก่อนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 31 มี.ค.

อย่างไรก็ตาม จากการที่เอ็นแอลดีครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา ถิ่นจอ จึงมีโอกาสได้เป็นประธานาธิบดีมากที่สุด โดยสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ถิ่นจอเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับอองซานซูจี ซึ่งประกาศชัดเจนจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังประธานาธิบดี เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ ซูซูวิน ภรรยาของถิ่นจอ เป็นบุตรสาวของโฆษกพรรคเอ็นแอลดีที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างมาก

นอกจากนี้ ซูจียังสามารถครองตำแหน่งที่ปรึกษาได้อย่างที่อดีตประธานาธิบดี ลีกวนยิว ของสิงคโปร์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีหลังพ้นตำแหน่ง ขณะที่หลายฝ่ายต่างเก็งว่า อองซานซูจีจะหันเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ซูจีได้เก้าอี้ในสภาความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (เอ็นดีเอสซี)

เอ็นดีเอสซี เป็นสภาที่มีอำนาจในการประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้ทหารสามารถจับกุมเจ้าหน้าที่ทุกระดับในรัฐบาลทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ในขณะที่ตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศก็เป็นตำแหน่งสำคัญในฐานะเจ้าหน้าที่ทางการทูตสูงสุดของประเทศ และจะช่วยให้เมียนมาสานสัมพันธ์กับต่างชาติได้ง่าย

เศรษฐกิจ-สังคมยังคงท้าทาย

เว็บไซต์ข่าวสารธุรกิจอีโคโนมีวอตช์ เปิดเผยว่า ยังมีความกังวลเกี่ยวกับอำนาจของรัฐบาลใหม่ เนื่องจากกองทัพที่ยังคงครองกระทรวงสำคัญอย่างมหาดไทยและกลาโหม ในขณะที่ยังต้องจัดการกับความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อย และยังมีความกังวลต่อรายได้ประชากร ซึ่งประชากรยากจนที่มีรายได้น้อยกว่าวันละ 1 เหรียญสหรัฐ (ราว 35 บาท) มีมากถึง 80% รวมถึงด้านการศึกษา ซึ่งกฎหมายปฏิรูปการศึกษายังคงติดอยู่ในรัฐสภาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย.

ปัญหาเศรษฐกิจที่พึ่งพาการลงทุนต่างชาติยังคงเป็นที่กังวล เนื่องจากเมียนมาติดอยู่ระหว่างการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการดึงต่างชาติเข้าลงทุน โดยเมื่อ วันที่ 24 ธ.ค. 2015 เมียนมาผ่านกฎหมายเหมืองฉบับแก้ไข ที่อุดช่องว่างความกังวลของนักลงทุนต่างชาติ เช่น การเพิ่มสัดส่วนผลผลิตที่อนุญาตและการเปิดให้มีการร่วมทุนกับต่างชาติ อย่างไรก็ตามต่างชาติยังคงกังวลเมียนมาจะออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมตามมา

นอกจากนี้ เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เมียนมาผ่านกฎหมายอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ให้นักลงทุนต่างชาติสามารถตั้งอนุญาโตตุลาการได้ รวมถึงกฎหมายคอนโดมิเนียมที่อนุญาตให้ต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมได้มากกว่า 40% ของยูนิต อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลด้านการบังคับใช้กฎหมาย

คนสนิทผู้ฝากชีวิตไว้หลังพวงมาลัย

ภาพที่ทุกคนเห็นถิ่นจอจนเคยชิน คือ ภาพของชายวัย 69 ปี ที่คอยขับรถให้แก่อองซาน ซูจี จึงไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักในสายตาของสาธารณชน แต่ชายคนนี้กำลังจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของเมียนมาในรอบหลายสิบปี

ถิ่นจอ จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ก่อนไปศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และเป็นพันธมิตรเคียงบ่าเคียงไหล่ซูจี ผู้เป็นรุ่นพี่คณะเดียวกันด้วยความซื่อสัตย์และภักดีมาโดยตลอด โดยยังเป็นสมาชิกอาวุโสของมูลนิธิดอว์ขิ่นจี มูลนิธิที่ซูจีก่อตั้งขึ้นในนามของมารดา

ขณะเดียวกัน ครอบครัวของถิ่นจอเองก็วนเวียนอยู่ในแวดวงการเมือง และมีความน่าเชื่อถือในสายตาสาธารณชน โดย มินตูวุน ผู้เป็นบิดา เคยชนะการเลือกตั้งในปี 1990 ขณะที่  ซูซูลวิน ผู้เป็นภรรยาเองก็เป็นบุตรสาวของ  อูลวิน ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นโฆษกพรรคที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างมาก

ภาพ อีพีเอ