posttoday

"มหาเศรษฐี 62 คน" ครองทรัพย์สินเท่าคนครึ่งโลก

19 มกราคม 2559

องค์การออกซ์แฟม เผย มหาเศรษฐีเพียง 62 คนมีทรัพย์สินมูลค่ามากกว่าประชากรฐานะยากจนครึ่งโลกรวมกัน

องค์การออกซ์แฟม เผย มหาเศรษฐีเพียง 62 คนมีทรัพย์สินมูลค่ามากกว่าประชากรฐานะยากจนครึ่งโลกรวมกัน

องค์การออกซ์แฟม (Oxfam) เผยข้อมูลที่น่าตกใจอย่างยิ่ง เมื่อพบว่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีเพียงแค่ 62 คน กลับมีมูลค่ามากกว่าทรัพย์สินของประชากรฐานะยากจนครึ่งโลกรวมกันเสียอีก และยังมีแนวโน้มที่อัตราส่วนจะมากกว่านี้อีกในอนาคต สะท้อนให้เห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยและคนยากจนอยู่ในระดับที่น่าวิตก และเมื่อเร็วๆ นี้มีอัตราความห่างมากที่สุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา

ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ยังมีคนรวยจำนวนถึง 388 คนที่มีทรัพย์สินเท่ากับของคนยากจน ซึ่งนับเป็นประชากรครึ่งโลกรวมกัน ทว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับแต่ปี 2010 ทรัพย์สินของเหล่ามหาเศรษฐีจำนวนหยิบมือเพิ่มขึ้นถึง 44% เป็น 1.76 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 64 ล้านล้านบาท)

ขณะที่ทรัพย์สินของคนยากจนครึ่งโลก หรือราว 3,500 ล้านคน กลับลดลง 41% ประกอบกับรายรับของคนยากจนตลอดเวลาเกือบ 25 ปี ที่เพิ่มขึ้นไม่ถึง 3 เหรียญสหรัฐต่อปี ทำให้จำนวนมหาเศรษฐีที่จะมีทรัพย์สิน รวมกันเท่ากับคนยากจนลดลงเหลือ 80 คนในปี 2014 กระทั่งลดลงเหลือ 62 คนในปัจจุบัน

ออกซ์แฟมได้เสนอวิธีลดช่องว่างด้วยการขอความร่วมมือจากรัฐบาลทั่วโลกปราบปรามการหลบเลี่ยงภาษี เพิ่มการลงทุนในบริการสาธารณะเพื่อสร้างงานในระดับรากหญ้า และเพิ่มค่าตอบแทนแก่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้ความสำคัญกับมาตรการแรกเป็นพิเศษ เนื่องจากนักธุรกิจส่วนใหญ่โยกเงินไปพักไว้ในประเทศที่เป็นแหล่งฟอกเงินที่พร้อมจะให้ความร่วมมือปกปิดข้อมูลทรัพย์สินของลูกค้า ส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียโอกาสในการจัดเก็บรายได้เพื่อนำมาพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจำนวนมหาศาล

เมื่อปีที่แล้ว ก่อนการประชุมเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะเริ่มขึ้น ออกซ์แฟมเคยคาดการณ์ไว้ว่า คนรวยจำนวน 1% จะมีทรัพย์สินมากกว่าคนทั้งโลกรวมกันภายในสิ้นปีนี้ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับเกิดขึ้นในช่วงปี 2015 เร็วกว่าที่คาดไว้

สาเหตุความเหลื่อมล้ำที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ มาจากรายได้ของแรงงานในประเทศทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาลดลงและช่องว่างของรายรับสูงสุด-ต่ำสุดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายได้ของผู้หญิงและผู้ชายที่ทำงานในระดับเดียวกัน ในขณะที่กลไกต่างๆ ทางเศรษฐกิจล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ให้คนที่มั่งคั่งอยู่แล้วนำเงินมาต่อเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยจากการนำเงินไปลงทุน เงินปันผล ซึ่งมักจะสูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

ด้านองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เตือนผู้นำทั่วโลกว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อการร่วมมือทางสังคมและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ที่มา www.m2fnews.com

ภาพ...เอเอฟพี