posttoday

น้ำมัน-หุ้นโลกป่วนหนัก ดึง "เฟด" ชะลอขึ้นดอกเบี้ย

13 มกราคม 2559

ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลงราว 20% ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลงราว 20% ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก เศรษฐกิจจีนที่อยู่ในสภาพน่ากังวล และตลาดหุ้นโลกผันผวนหนัก เช่นเดียวกับเงินเหรียญสหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ประเทศนำเข้าน้ำมันที่ใช้เงินสกุลอื่นในการซื้อขายต้องจ่ายแพงขึ้น

เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับตัวลง 3% โดยระหว่างการซื้อขายราคาร่วงลงไปแตะระดับ 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์ต่างพากันปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมัน และคาดว่าราคาจะร่วงลงอีก

ล่าสุด มอร์แกน สแตนเลย์ ออกมาคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ราว 20-25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเท่านั้น เนื่องจากแรงซื้อจากจีนที่ไม่ฟื้น และค่าเงินหยวนที่อ่อนลงจะยิ่งทำให้เมื่อซื้อน้ำมันในรูปแบบเหรียญสหรัฐมีราคาแพงขึ้น จำกัดแรงซื้อจากจีนซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่

เช่นเดียวกับ แบงก์ออฟอเมริกา โกลด์แมน แซคส์ และซิตี้กรุ๊ป ต่างคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะลงไปอยู่ช่วง 21-29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากปริมาณน้ำมันล้นตลาดจากการแข่งขันระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก (โอเปก) และสหรัฐ รวมถึงอิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง

ราคาน้ำมันที่ตกลงยังส่งผลกระทบต่อบรรดาบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ โดย บีพี บริษัทน้ำมันจากอังกฤษ ประกาศปรับลดพนักงานลง 4,000 คน ภายในสิ้นปี 2017 หลังราคาน้ำมันตกต่ำ

ล่าสุด อิมมานูเอล อิเบ คาชิควู รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรปิโตรเลียมของไนจีเรีย เปิดเผยว่า สมาชิกโอเปก 2 ราย แต่ไม่ระบุว่าเป็นประเทศใด เรียกร้องให้มีการจัดประชุมฉุกเฉินในเดือน ก.พ. หรือ มี.ค. หลังราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยประเด็นหลัก คือ เรื่องกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก

นอกจากราคาน้ำมันที่ผันผวนอย่างหนักแล้ว ตลาดหุ้นก็ปั่นป่วนหนักเช่นกัน นำโดยดัชนีนิกเกอิที่ปรับตัวลง 2.7% ปิดตลาดที่ 17,218.96 จุด ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง

สวนทางกับราคาทองแท่งงวดส่งมอบทันทีปรับตัวขึ้น 0.4% ที่ 1,098.16 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ หลังราคาดิ่งลง 1.3% ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ทั้งนี้ราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากความกังวลของบรรดานักลงทุนต่อเศรษฐกิจจีน ราคาน้ำมัน และตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้นักลงทุนหันมาหาสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

เฟดลังเลขึ้นดอกเบี้ย

โรเบิร์ต แคปแลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส ระบุว่า อาจไม่แน่ชัดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะทำให้ตลาดหุ้นโลกผันผวนซ้ำหลังเจอปัญหาจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว แม้บรรดานักลงทุนต่างจับตามองการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปในเดือน มี.ค. ก็ตาม

“เห็นได้ชัดว่า นี่ไม่ใช่เรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นในปี 2016” แคปแลน กล่าว

ก่อนหน้านี้ เจเน็ต เยลเลน ผู้ว่าการเฟด ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 4 ครั้งในปี 2016 อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้กระทบต่อตลาดและประเทศอื่นน้อยที่สุด โดยเฟดรอดูท่าทีของตลาดหุ้นทั่วโลกและเศรษฐกิจจีนก่อนตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้สภาพเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงน่าเป็นห่วงเหมือนเคย และไม่มั่นใจว่าข้อมูลทางเศรษฐกิจตอนนี้จะเพียงพอให้เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่

“เราต้องให้ความสำคัญกับสภาพเศรษฐกิจที่สำคัญๆ และต้องจับตาสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในตลาดการเงิน” แคปแลน ย้ำ

จีนแทรกแซงตลาดเงิน

บลูมเบิร์ก เปิดเผยอ้างแหล่งข่าวว่า เป้าหมายหลักที่ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) เข้าแทรกแซงตลาดเงิน เป็นเพราะต้องการรักษาเสถียรภาพเงินหยวน และป้องกันนักลงทุนเก็งกำไร ส่งผลให้ค่าเงินหยวนออฟชอร์แข็งค่าขึ้น 0.7% เทียบเหรียญสหรัฐ เช่นเดียวกับอัตรากู้ยืมค่าเงินหยวนข้ามคืนในฮ่องกงขึ้นจาก 53% เป็น 66.82% มากกว่าอัตราเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ถึง 5 เท่า

หม่าจุน หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์พีบีโอซี ระบุว่า การปรับค่ากลางดังกล่าวคำนวณจากอัตราการปิดตลาดในวันก่อนหน้าเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยตลาดกำลังเข้าใจการปรับค่ากลางของจีนผิดไป

ด้าน หลี่ปูมิน โฆษกคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน (เอ็นดีอาร์ซี) เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของจีนปี 2015 อยู่ที่ราว 7% และสร้างงานกว่า 13 ล้านตำแหน่ง เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลผ่านโครงการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร 280 โครงการ มูลค่ากว่า 3.83 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 13.78 ล้านล้านบาท)

สวนทางกับรายงาน ฟาธอม สถาบันให้คำปรึกษาเศรษฐศาสตร์มหภาค ที่ระบุว่า ตัวเลขจีดีพีจีนปี 2015 อยู่ที่เพียง 2.4% เท่านั้น