posttoday

ลุ้นIMFเพิ่มหยวน ร่วมสกุลเงินหลักโลก

30 พฤศจิกายน 2558

กองทุนการเงินระหว่างประเทศเตรียมพิจารณาให้เงินหยวนเข้าเป็นหนึ่งในตะกร้าสกุลเงินหลักของโลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศเตรียมพิจารณาให้เงินหยวนเข้าเป็นหนึ่งในตะกร้าสกุลเงินหลักของโลก

ในวันนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะมีการพิจารณาให้เงินหยวน (CNY) หรือสกุลเงินเหรินหมินปี้ (RMB) เข้าเป็นหนึ่งในตะกร้าสกุลเงินหลักของโลก (SDR) เทียบเท่ากับเงินตราต่างประเทศที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด 4 สกุล อันได้แก่ เงินเหรียญสหรัฐ เงินยูโร เงินปอนด์อังกฤษ และเงินเยนของญี่ปุ่น ซึ่งหากหยวนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบ จะถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญทางการทูตและการเงินของจีน

SDR ถือเป็นค่าเงินกลางและสินทรัพย์สำรองของ IMF โดยสถุลเงินที่เป็นส่วนหนึ่งของ SDR จะถือว่าเป็นเงินสกุลแข็ง สามารถเก็บเป็นทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับสถานะทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก อีกทั้งเงินหยวนยังเป็นสกุลเงินที่ใช้ทำธุรกรรมมาเป็นอันดับ 2 แทนที่เงินยูโร ส่วนอันดับ 1 ยังคงเป็นเงินเหรียญสหรัฐ

จีนมีความพยายามที่จะผลักดันให้เงินหยวนมีสถานะที่ได้รับการยอมรับเทียบเท่ากับเงินสกุลหลักๆ ของโลกมาโดยตลอด และเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลจีนยังร้องขอให้รวมเงินหยวนเข้าเป็นกลุ่มเดียวกับเงินสกุลหลัก แต่ได้รับการทัดทานจากบางประเทศ เนื่องจากจีนยังคงใช้มาตรการควบคุมค่าเงินมากเกินไป ซึ่งไม่สอดล้องกับคุณสมบัติของสกุลเงินใน SDR ที่จะต้องมีการซื้อขายอย่างเสรี

ที่ผ่านมาสหรัฐเป็นประเทศที่แสดงจุดยืนไม่พอใจมาตรการควบคุมค่าเงินของรัฐบาลจีนมาโดยตลอด โดยชี้ว่าจีนควบคุมค่าเงินด้วยการลดค่าเงินหยวนให้ต่ำลงกว่าความเป็นจริง เพื่อเกื้อหนุนภาคส่งออกของตัวเอง และจากรายงานล่าสุดของกระทรวงการคลังสหรัฐเมื่อเดือน ต.ค. ก็ยังระบุว่าเงินหยวนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของ IMF และคณะกรรมการบริหารของ IMF กลับสนับสนุนให้รวมเงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าหลักโดยเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย. คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ IMF ยังแสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่าต้องการจะให้หยวนเป็นเงินสกุลหลักของโลก หลังจากพบว่าเงินหยวนมีคุณสมบัติในการซื้อขายอย่างเสรีมากพอแล้ว และเมื่อคราวที่จีนปรับลดค่าเงินอย่างกะทันหันในเดือน ส.ค. IMF ยังชมเชยว่าเป็นการตัดสินใจที่ตอบรับความเคลื่อนไหวของตลาด

ทั้งนี้ หากเงินหยวนได้รับการอนุมัติให้เป็นส่วนหนึ่งของ SDR จะมีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ก.ย. 2016 ซึ่งครั้งสุดท้ายที่มีการปรับเปลี่ยนตะกร้าเงินคือเมื่อปี 2000 เมื่อครั้งที่เงินยูโรเข้ามาแทนที่เงินดอยช์มาร์กของเยอรมนี และเงินฟรังก์ของฝรั่งเศส ส่วนอัตราส่วนของ SDR ในขณะนี้ เงินเหรียญสหรัฐมีสัดส่วน 41.9% เงินยูโร 37.4% เงินปอนด์ของอังกฤษ 11.3% และเงินเยนของญี่ปุ่น 9.4% ในตะกร้า

ที่มา www.m2fnews.com
ภาพ...เอเอฟพี