posttoday

มาเลเซียไล่นายกฯต่อวันที่ 2 มหาเธร์กระทุ้งโผล่กลางม็อบ

31 สิงหาคม 2558

ชาวมาเลเซียยังยืนหยัดชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค เป็นวันที่สอง

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์ 

ชาวมาเลเซียยังคงยืนหยัดชุมนุมประท้วงขับไล่นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค เป็นวันที่สอง โดยขณะที่ทางด้านตำรวจอ้างว่ามีผู้ชุมนุมประท้วงซึ่งใส่เสื้อสีเหลืองอยู่ราว 2.5 หมื่นคนเท่านั้น แต่ทางด้านผู้ประสานงานจัดการประท้วงกลับระบุว่า มีผู้เข้าร่วมการขับไล่นายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ถึง 2 แสนคน ซึ่งเมื่อวันที่ 30 ส.ค. อดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตผู้นำประเทศที่ได้รับการเคารพอย่างสูงจากชาวมาเลเซียนั้น ได้ปรากฏตัวในกลุ่มผู้ประท้วง และได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ที่ผ่านมา

กลุ่มผู้ประท้วงได้ตั้งแคมป์นอนค้างกันในที่ชุมนุม โดยต่างสวมใส่เสื้อสีเหลืองอันเป็นสัญลักษณ์แห่งขบวนการ “เบอร์ซิห์” ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่ยุติธรรม และใสสะอาด

รายงานระบุว่า ที่ผ่านมานั้นทางการมาเลเซีย ได้พยายามที่จะบล็อกเว็บไซต์ของกลุ่มเบอร์ริช เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการรวมตัวกันขึ้น แต่ทว่าก็ไม่สำเร็จ และพยายามทำลายสัญลักษณ์โลโก้ของกลุ่มเบอร์ริชอีกด้วย โดยเมื่อวันที่ 30 ส.ค. โมเมนตัมของการประท้วงได้อยู่ข้างผู้ชุมนุมมากขึ้น เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ปรากฏตัวขึ้นในที่ชุมนุมพร้อมกับภรรยา โดยที่ผ่านมานั้นมหาเธร์ ได้ออกมากดดันให้นาจิบลาออกจากตำแหน่งมาหลายครั้ง การปรากฏตัวของมหาเธร์ในครั้งนี้ได้เรียกเสียงเชียร์จากผู้ชุมนุม โดยมหาเธร์ ได้บอกให้ผู้ชุมนุมเดินหน้าลุยต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี นาจิบ แห่งมาเลเซีย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคลัง และอีกหลายตำแหน่ง ในช่วงที่มหาเธร์ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศนั้นกำลังประสบบแรงกดดันอย่างหนักจากกรณีอื้อฉาวหลังถูกแฉเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ว่ามีการโอนเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ จากบัญชีกองทุนวัน มาเลเซีย เดเวลอปเมนท์ เบอร์ฮัด หรือกองทุน1MDB ไปยังบัญชีส่วนตัวของราซัค ซึ่งในเวลาต่อมานั้น นาจิบ อ้างว่าเป็นเงินที่โอนมาจากมหาเศรษฐีตะวันออกกลางที่บริจาคให้เป็นการส่วนตัว

มาเลเซียไล่นายกฯต่อวันที่ 2 มหาเธร์กระทุ้งโผล่กลางม็อบ อดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ร่วมม็อบด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางด้านมหาเธร์ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครโอนเงินมหาศาลขนาดนั้นให้กับใครง่ายๆ และขอให้ราซัคลงจากอำนาจแต่โดยดี

ล่าสุด นาจิบได้ออกโรงประณามการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ว่ากำลังทำลายภาพพจน์ของประเทศอย่างรุนแรง

“พวกที่ใส่เสื้อเหลืองเหล่านี้กำลังทำลายเครดิต และชื่อเสียงดีๆ ของเราอยู่ พวกเขากำลังทำให้ใบหน้าของมาเลเซียเปื้อนไปด้วยรอยด่างในสายตาต่างชาติ” สำนักข่าวเบอร์นามารายงาน โดยอ้าง คำกล่าวของนาจิบ

“20,000 คนคืออะไร รัฐบาลสามารถระดมคนได้มากเป็นแสน ชาวมาเลเซียที่เหลือทั้งหมดอยู่ข้างรัฐบาลทั้งนั้น” นาจิบ กล่าว

ด้านตำรวจมาเลเซียประเมินว่า มีฝูงชนเข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้ราว 2.5 หมื่นคน ขณะที่ทางกลุ่มเบอร์ซิห์ระบุว่ามีผู้เข้าร่วมราว 2 แสนคน ซึ่งมาเลเซียจะฉลองวันชาติ ปีที่ 58 ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ด้วย

“ครั้งนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่ง ชาวมาเลเซียรวมตัวกันด้วยความโกรธแค้นต่อการบริหารประเทศที่ผิดพลาด เรากำลังตะโกนออกไปดังๆ ว่าจะต้องมีการเปลี่ยน แปลงในตัวผู้นำ” อัซรูป คาลิป ผู้ประท้วงกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ประท้วงส่วนใหญ่จะเห็นว่าการชุมนุมเช่นนี้จะไม่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยน แปลงได้เพียงชั่วเวลาข้ามคืน แต่ก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างมาเลเซียไปสู่สิ่งใหม่

ผู้ประท้วงบางคนได้นำชอล์กมาเขียนตามท้องถนนว่า “เราต้องการเปลี่ยนแปลง” และ “เราต้องการการ เลือกตั้งที่ยุติธรรมและใสสะอาด”

มาเลเซียไล่นายกฯต่อวันที่ 2 มหาเธร์กระทุ้งโผล่กลางม็อบ

ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้สั่งประจำการตำรวจเป็นจำนวนมาก และนำแนวรั้วมากั้นเส้นทางต่างๆ ที่มุ่งหน้าไปยังจัตุรัส อินดิเพนเดนซ์ สแควร์ ซึ่งจะเป็นสถานที่จัดงาน วันชาติในวันจันทร์นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ในการรวมตัวประท้วงของกลุ่มเบอร์ซิห์ เมื่อปี 2011 และ 2012 นั้น ตำรวจมาเลเซียก็เคยสลายการชุมนุมประท้วงของกลุ่มเบอร์ซิห์ ด้วยการยิงน้ำ และแก๊สน้ำตาเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมมาแล้ว

ทางด้านนักวิเคราะห์การเมืองมองว่า การชุมนุมครั้งนี้แม้จะเรียกคนเมืองได้เป็นจำนวนมาก แต่ทว่าประชาชนเชื้อสายมาเลย์เองก็เข้าร่วมไม่มากนัก และนั่นคือเหตุผลหลักว่าเพราะเหตุใดรัฐบาลถึงยอมให้มีการจัดการประท้วงขึ้น

“รัฐบาลรู้สึกปลอดดภัยเพราะว่าการประท้วงครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชาวมาเลย์ โดยเฉพาะที่อยู่ในชนบท ซึ่งเป็นกลุ่มฐานเสียงที่แข็งแกร่งของรัฐบาล”อิบราฮิม ซุฟเฟียน นักวิเคราะห์การเมืองชาวมาเลเซียกล่าว แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าชาวมาเลย์ในชนบทเองจะไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไร เพราะว่าคนเหล่านั้นก็กำลังไม่พอใจกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาค่าเงินริงกิตที่อ่อนตัวอย่างรุนแรงอยู่เช่นกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าในการเลือกตั้งเมื่อปี 2013 พรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลผูกขาดมานานหลายสิบปีจะชนะการเลือกตั้งได้ แต่ทว่า ก็ต้องสูญเสียที่นั่งในหลายรัฐมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ให้กับฝ่ายค้านอันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าความนิยมในรัฐบาลเริ่มถดถอยลงบ้างแล้ว

มาเลเซียไล่นายกฯต่อวันที่ 2 มหาเธร์กระทุ้งโผล่กลางม็อบ