posttoday

หมดเวลาอ่อนข้อ จีนจะปิดประตูบ้านแล้วค้าขายกับตัวเอง?

25 พฤษภาคม 2563

เจาะแผนการจีนฟื้นเศรษฐกิจประเทศสู้โควิด-19 ทิศทางของจีนจะมุ่งไปทางไหน

การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติและการประชุมที่ปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน ประจำปี 2020 หรือ Two Sessions (เหลียงฮุ่ย) มีมติต่างๆ ที่สร้างความเซอร์ไพร์สให้กับชาวโลก รวมถึงการไม่เอ่ยถึงเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรก และยังผลักดันกฎหมายความมั่นคงฮ่องกง ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนอย่างมากต่อขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง

เรื่องไม่กำหนดเป้าเศรษฐกิจและการเมืองในฮ่องกงดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกัน แต่จริงๆ แล้วเกี่ยวกันอย่างมาก มันอาจเป็นสัญญาณว่าจีนจะไม่เกรงใจประเทศอื่นที่พยายามใช้ฮ่องกงเพื่อยั่วยุจีน และหลังจากนี้จีนจะเน้นตลาดในประเทศเป็นหลักเพราะไหนๆ ก็ค้าขายกับประเทศก็ลำบากแถมยังถูกโจมตีทั้งเรื่องฮ่องกงและเรื่องที่เป็นตัวการโรคระบาด

ตัวอย่างชัดๆ คือ หลังจากที่จีนเสนอกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกงเพื่อจัดการกับต่างชาติที่ชอบเข้ามาแทรกแซง รอเบิร์ท โอไบรอัน (Robert O'Brien) ที่ปรึกษาทำเนียบขาวก็ข่มขู่ในทันทีว่าจะยกเลิกสถานะพิเศษทางการค้าของฮ่องกง

แต่จ้าวลี่เจียน (Zhao Lijian) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนว่า ถ้าสหรัฐทำลายผลประโยชน์ของจีน จีนก็จะตอบโต้ด้วยมาตรการที่ควรจะทำทุกอย่าง

พูดง่ายๆ คือสหรัฐทำอะไรกับจีน จีนก็จะทำกับสหรัฐบ้างแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน 

อีกสัญญาณที่ค่อนข้างชัดมาจาก จงซาน รัฐมนตรีพาณิชย์จีนที่บอกว่า "เมื่อไม่มีแสงสว่างจากตะวันตก ก็ยังมีแสงสว่างจากตะวันออก"

ตะวันออกอาจจะหมายถึงเอเชียก็ได้ แต่ในทางประวัติศาสตร์แล้วเมื่อจีนเอ่ยถึง "ตะวันออก" ย่อมหมายถึงประเทศจีนเอง

จงซานยังบอกว่า ธุรกิจส่งออกที่หันมาเน้นตลาดภายในมียอดขายในตลาดจีนเพิ่มขึ้น 17% และรัฐบาลยังสนับสนุนให้ธุรกิจส่งออกกลับมาเน้นตลาดในบ้านแทนที่จะไปค้าขายข้างนอก

สีจิ้นผิงบอกว่าจีนจะต้องยึดมั่นในการค้าพหุภาคีแม้ว่าการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของแต่ละประเทศ (Protectionism) จะผงาดขึ้นมาก็ตาม

แต่นี่เป็นแค่โวหารสวยหรู เพราะความเป็นจริงการค้าพหุภาคีล่มสลายลงแล้วเพราะโควิด-19 และสั่นคลอนมาก่อนหน้านี้แล้วจากสงครามการค้า มันรุนแรงเกินกว่าสีจิ้นผิงจะต้านทานไหวแล้ว

และในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่สีจิ้นผิงบอกว่าจะต้องธำรงรักษาการค้าพหุภาคีนั้น ตัวเขาเองนั่นและที่บอกกับที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจหลายคนในปักกิ่งว่าจีนกำลังดำเนินการตามแผนพัฒนาใหม่ซึ่ง “การหมุนเวียนในประเทศมีบทบาทสำคัญ”

เขาบอกว่า “ในอนาคตเราต้องใช้อุปสงค์ภายในประเทศในฐานะจุดเริ่มต้นและการตั้งหลักพร้อมๆ กับที่เราจะเร่งสร้างระบบการบริโภคภายในประเทศที่สมบูรณ์” 

จะเห็นว่าสีจิ้นผิงบอกเองกับปากเลยว่าจีนจะหันมาค้าขายในประเทศ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือการปกป้องผลประโยชน์ของชาติตัวเอง ส่วนการค้าเสรีจะกลายเป็นอดีตไป จีนจึงต้องเร่งรีบปั้นตลาดในประเทศให้รองรับเศรษฐกิจของตัวเอง

ก่อนอื่นเรามาดูเป้าหมายคร่าวๆ ในทางเศรษฐกิจของการประชุมเหลียงฮุ่ยกันก่อน เพื่อที่จะเห็นภาพว่าจีนจะทำอะไรต่อไป

  • ในปีนี้ไม่มีการกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • เป้าหมายดัชนีผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 3.5%
  • การว่างงานควรจะอยู่ที่ 5.5%
  • ตำแหน่งงานใหม่ในเขตเมืองเพิ่มขึ้น 9 ล้านตำแหน่ง
  • เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมาตรฐานสูง 33.3 ล้านไร่
  • ภาคธุรกิจออมเงินได้เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านล้านหยวน
  • เพิ่มสินเชื่อของธนาคารใหญ่ให้ธุรกิจเล็ก 40%
  • เพิ่มเพดานงบประมาณขาดดุลขึ้นมาอีก 1 ล้านล้านหยวนเทียบกับปีที่แล้ว
  • ออกพันธบัตรรัฐบาลสู้โควิด-19 มูลค่า 1 ล้านล้านหยวน
  • ออกพันธบัตรพิเศษรัฐบาลท้องถิ่น 3.75 ล้านล้านหยวน

หลังจากการประชุมแล้ว หนิงจี๋เจ๋อ (Ning Jizhe) รองประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ได้เปิดเผยรายละเอียดและแผนการการะตุ้นเศรษฐกิจจีนเพิ่มเติม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

หนิงจี๋เจ๋อ กล่าวว่า การที่จีนไม่มีเป้าหมายจีดีพี ไม่ได้หมายความว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องสำคัญ และถึงแม้การระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็มีโอกาสในวิกฤตเช่นกัน

เขากล่าวว่าภารกิจเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุดในปีนี้คือการจ้างงาน ความเป็นอยู่ของประชาชน แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้เรียก "การเสริมแรง 6 อย่าง"

แผนการคือ

  • มุ่งเน้นไปที่การจ้างงานนักศึกษามหาวิทยาลัย แรงงานอพยพ และแรงงานจากพื้นที่ยากจน
  • จะมุ่งเน้นไปที่การยกระดับความยากจน การบริโภคอุตสาหกรรม
  • เสริมนโยบายธุรกิจการเงินให้แข็งแกร่ง
  • เสริมความแข็งแกร่งของอุปสงค์ภายในประเทศและปฏิรูปโครงการอุปทาน กระตุ้นการบริโภค กระตุ้นการลงทุน
  • เสริมการสนับสนุนภาคธุรกิจ
  • เสริมสร้างการปฏิรูปและการเปิดประเทศ และระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม-สังคมนิยมในสไตล์จีน

หนิงจี๋เจ๋อ ซึ่งยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ระบุว่า จะมีการสร้างตำแหน่งงานภาครัฐ 300,000 ตำแหน่งเพื่อรองรับแรงงานที่ยากจนซึ่งติดอยู่กับบ้านในช่วงกักกันโรคระบาด นอกจากนี้จะมีการจัดหางานให้กับแรงงานอพยพจากพื้นที่ชนบท โดยเป็นงานในถิ่นอาศัยหรือพื้นที่ใกล้เคียง

การระบาดส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ ภาคการบริโภคได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก แต่เขาเชื่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจช่วงเดือนพฤษภาคมจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นในด้านการบริโภค หลังจากที่จีนคลายล็อคและปล่อยให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่าการฟื้นตัวของการบริโภคเป็นผลมาจากการกระตุ้นรูปแบบการบริโภคแบบใหม่ เช่น อีคอมเมิร์ซ และเขาไม่อาจบอกได้ว่าการบริโภคที่ระเบิดขึ้นมาเป็นผลมาจากการเก็บกดของประชาชนหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแน่นอน

บทวิเคราะห์

1. เราจะเห็นว่าแผนการระยะสั้นของจีนคือการการจ้างงาน การที่ประชาชนมีงานทำจะช่วยให้ลืมตาอ้าปากได้ และช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ จากแผนการของเหลียงฮุ่ยและ NDRC จะเห็นว่าจีนเน้นการค้าขายในประเทศเป็นหลัก ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่านี่คือการ "ซ่อมแซม" ความเสียหายจากโควิด-19

2. แต่ในแง่หนึ่งก็อาจมองได้ว่าจีนกำลังเตรียมพร้อมกับการ "พึ่งพาตัวเอง" เพื่อรับมือกับสงครามการค้าและสงครามมเย็นใหม่ โดยพลังการซื้อ 1,400 ล้านคนในประเทศจะช่วยพยุงเศรษฐกิจจีนไปได้ระดับหนึ่ง และดูเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่ในจีนก็มองเห็นจุดนี้ด้วย ดังเช่นที่ หนิงจี๋เจ๋อก็เอ่ยถึงพลังของ "ประชากร 1,400 ล้านคน" ในงานแถลงแผน 6 อย่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

3. จีนจะหันมาเสริมความแข็งแกร่งให้ตลาดภายใน เพื่อพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ลดการพึ่งพาตลาดภายนอกให้น้อยลง แต่ขณะเดียวกันเมื่อปีกกล้าขาแข็งอีกครั้งก็จะฟอร์มแนวร่วมการค้าขายใหม่ เป็นตลาดภายนอกจีนที่หลุดจากการคุกคามของสหรัฐ

4. ธุรกิจนอกจีนก็อาจจะเริ่มได้กลิ่นแปลกๆ นี้ เพราะเถาเป่า (Taobao) เผยว่าระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม มีบริษัทการค้าในต่างประเทศมาเปิดร้านค้าออนไลน์ในจีนเพิ่มขึ้นถึง 160%

5. อาจเป็นเรื่องเพ้อฝันไปสักหน่อยที่จะบอกว่าจีนจะเลิกค้าขายกับโลกภายนอก จีนไม่ได้ปิดตายประเทศตัวเอง แต่จีนกำลังสร้างตลาดในประเทศให้เป็นที่พึ่งพา หรือเป็น "ฟูก" คอยรองรับเวลาล้มหากการค้าระหว่างประเทศพังพินาศเหมือนตอนนี้

6. อย่างน้อยๆ ปัญหาตอนนี้คือห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน บางประเทศแก้ปัญหาด้วยการย้ายฐานการผลิตกลับบ้าน แต่จีนจะทำมากกว่านั้นด้วยการผลิตในบ้านและขายในบ้านเป็นหลัก เมื่อห่วงโซ่อุปทานสะดุดอีก (จากการระบาดระลอก 2 หรือ 3) จีนก็มีเรื่องให้กังวลน้อยลง

7. การหันมาค้าขายในบ้านตัวเองยังเป็นแผนสำรองในกรณีที่สหรัฐบุ่มบ่ามทำอะไรแผลงๆ ขึ้นมา เหมือนที่ทรัมป์โพล่งขึ้นมาว่าจะตัดความสัมพันธ์กับจีน 

8. แผนการเหล่านี้คือการเตรียมพร้อมรับกับ "สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด" ในทางเศรษฐกิจคือเตรียมการทำสงครามการค้ากับสหรัฐอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนในทางการเมืองคือการพร้อมพุ่งเข้าชนหากจีนถูกคุกคามอย่างไม่เกรงใจเหมือนที่กำลังเกิดขึ้นกับกรณีสหรัฐข่มขู่จีนเรื่องฮ่องกงกง

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน