posttoday

พีระมิดบนกลิ่นคาวเลือด แห่งเมโสอเมริกา

22 ตุลาคม 2559

ฉบับที่แล้ว ได้แนะนำเรื่องราวความเป็นดินแดนอารยธรรมโลกของประเทศเม็กซิโกไปบ้างแล้ว

โดย...ทีมงานโลก 360 องศา [email protected]

ฉบับที่แล้ว ได้แนะนำเรื่องราวความเป็นดินแดนอารยธรรมโลกของประเทศเม็กซิโกไปบ้างแล้ว ได้เห็นภาพประกอบไปบ้างแล้ว คงพอนึกภาพออกแล้วว่า พีระมิดของโลกตะวันตกฝั่งอเมริกาแตกต่างจากพีระมิดอียิปต์ที่เราคุ้นเคยอย่างไรบ้าง ความน่าสนใจคือ ยุคนั้นเป็นยุคหิน ที่ยังไม่รู้จักการใช้ล้อลาก ยังไม่รู้จักการถลุงแร่ และยังไม่รู้จักการใช้เครื่องทุ่นแรง แต่ชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านั้น ทั้งตัด ทั้งย้าย ทั้งยก และทั้งสร้างพีระมิดอันยิ่งใหญ่ได้อย่างไร เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้

ความเชื่อในเทพเจ้า คือ แรงผลักดันให้มนุษย์ทำอะไรได้เกินคาดจริงหรือไม่ หรือมนุษย์ผู้ก่อสร้าง จงใจสื่อสารให้คนทั่วไป เชื่อว่าเทพเจ้าเป็นผู้สร้างสิ่งเหล่านั้น เพราะภาพสลักและภาพเขียนโบราณบอกเล่าว่า ชนเผ่าในยุคนั้น ต่างเชื่อและศรัทธาในเทพเจ้าและสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ถึงขนาดมีการฆ่า การบูชายัญกันเลยทีเดียว

ความเชื่อเหล่านั้น เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนสังคมในยุคก่อนคริสตกาล ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าจะมองกันที่ข้อดีก่อน เราก็จะเห็นว่าความเชื่อเหล่านั้นช่วยผลักดันให้เกิดสิ่งปลูกสร้างอันยิ่งใหญ่ขึ้นได้ และความเชื่อเหล่านั้น นำไปสู่การพัฒนางานฝีมือและงานศิลปะหลากแขนง รวมทั้งความเชื่อเหล่านั้นเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาพยายามเอาชนะเงื่อนไขธรรมชาติหลายๆ อย่าง แต่ในขณะเดียวกัน ความเชื่อในเทพเจ้าก็นำพาพวกเขาไปสู่การรบราฆ่าฟัน การสังเวยชีวิตผู้บริสุทธิ์ และการตัดสินใจที่ผิดพลาด

พีระมิดบนกลิ่นคาวเลือด แห่งเมโสอเมริกา ภาพสลักหัวกะโหลกที่เชื่อว่าจำลองมาจากสถานการณ์จริงในสมัยนั้น

 

ชนเผ่าแอซเทค (Aztec) ที่เป็นเจ้าของเดิมของเม็กซิโกซิตี้ ต้องเสียแผ่นดินให้กับกองทัพสเปน ก็เพราะความเชื่อที่ว่านี่แหละ ว่ากันว่าในสมัยที่นักสำรวจชาวสเปนเข้ามาถึงเตนอชตีตลัน (Tenochtitlan) เมืองหลวงของแอซเทค ก็ได้รับการต้อนรับและเทิดทูนในฐานะนักรบกษัตริย์ในตำนาน เพราะชาวสเปนท่านนั้น บังเอิญมีลักษณะตรงกับคำทำนายตามความเชื่อโบราณ หลังจากเจ้าบ้านให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ผ่านไปอีกประมาณ 2 ปี อาณาจักรแอซเทคก็ล่มสลายลง ด้วยกองทัพสเปนที่ร่วมมือกับอีกชนเผ่าหนึ่งที่เป็นศัตรูกับแอซเทค ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมกองทัพสเปนจึงล่วงรู้ความลับและเข้าใจจุดอ่อนของแอซเทคได้หมดไส้หมดพุงขนาดนั้น

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่า พวกเขาเชื่อในเทพเจ้าคือเรื่องที่ชาวแอซเทคเลือกที่จะตั้งเมืองบนเกาะเล็กๆ ในทะเลสาบ เหตุเพียงเพราะเทพเจ้าบัญชาว่า พวกเขาต้องเดินทางลงใต้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจออินทรีที่กำลังจิกงูบนต้นกระบองเพชร และเมื่อภาพนั้นปรากฏที่ใด ก็ให้ตั้งเมืองใหม่เสียตรงนั้น แต่บังเอิญว่าต้นกระบองเพชรต้นนั้น ดันไปอยู่กลางทะเลสาบ ดังนั้น เมืองเตนอชตีตลัน (เม็กซิโกซิตี้ในปัจจุบัน) จึงเป็นเมืองที่เกิดขึ้นบนทะเลสาบ

ดินแดนเก่าแก่ในพื้นที่ของประเทศเม็กซิโกอีกหลายแห่งยังมีตำนานความเชื่อ และหลักฐานการบูชาเทพเจ้า ให้เห็นอยู่อย่างเช่น เมืองเตโอติอัวกัน (Teotihuacan) นครลึกลับกลางหุบเขา ที่สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าชนชาติใดเป็นผู้สร้าง แต่ก็มีหลักฐานความยิ่งใหญ่ และมั่งคั่ง หลงเหลืออยู่ให้นักโบราณคดีได้แกะรอย

พีระมิดบนกลิ่นคาวเลือด แห่งเมโสอเมริกา ซิโนเต บ่อน้ำลึก ที่ในอดีตเคยใช้เป็นที่บูชายัญ

 

เตโอติอัวกันตั้งอยู่ในหุบเขาและมั่งคั่งได้อย่างไม่สมเหตุสมผล เพราะไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งน้ำ และแหล่งเพาะปลูก อันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการเลือกตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในสมัยนั้น แต่ก็เดากันว่า เหตุผลหลักในการตั้งเมือง คงเกิดจากบัญชาขององค์เทวะกษัตริย์ ซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนในยุคนั้น และในขณะเดียวกันการล่มสลายลงของเตโอติอัวกันก็อาจเกิดจากการเผาทำลายป่า เพื่อเอาไม้มาใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการทำปูนฉาบ เพื่อเขียนลายผนัง อันเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการบูชาเทพเจ้า

ภาพเขียนการบูชายัญปรากฏอยู่แทบจะทุกอาณาจักรในกลุ่มเมโสอเมริกา ซึ่งสื่อถึงความเชื่อในเทพเจ้า และความเชื่อที่ว่า ยิ่งเทพเจ้าของพวกเจ้าได้เสพเลือดมากเท่าใด ก็จะยิ่งพึงพอใจ และประทานความเจริญให้แก่พวกเขา

ที่ชิเชน อิทซา (Chichen Itza) พีระมิดขึ้นชื่อที่สุดของชาวมายา มีแท่นหินที่เรียกว่าบัลลังก์เสือจากัวร์ เป็นรูปสลักของเทพเจ้าชาคมุล (Chakmool) ที่นอนเอนกายถือถาดอยู่เหนือท้อง ซึ่งเชื่อกันว่าถาดดังกล่าวมีไว้สำหรับใส่หัวใจเหยื่อที่ถูกควักออกมาใช้บูชายัญ

พีระมิดบนกลิ่นคาวเลือด แห่งเมโสอเมริกา ภาพสลักนักรบโบราณที่ลากศพเหยื่อมาเพื่อสังเวยชัยชนะ

 

อีกหลายมุมของเมืองเก่ามายา ปรากฏภาพหลักหัวกะโหลก ภาพเขียนไม่น้อยที่แสดงการเข่นฆ่าศัตรู หรือสังเวยชีวิตเหยื่อ เพื่อเป้าหมายคือ ความพึงพอใจของเทพเจ้า

เหยื่อที่ใช้บูชายัญอาจแตกต่างกันออกไป บางเทพเจ้าก็บูชาด้วยเลือด ด้วยหัวใจของเหยื่อ บางเทพเจ้าก็ต้องสังเวยด้วยศีรษะ และบางเทพเจ้าก็บูชาด้วยหญิงพรหมจรรย์ แต่ที่น่าใจหายที่สุดคือ มีการสังเวยด้วยชีวิตเด็กเล็ก ที่หย่อนลงไปในหลุมยุบขนาดใหญ่ เรียกว่า ซิโนเต (Cenote) ซึ่งซิโนเตที่ว่านี้ คือบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่เชื่อมกับธารน้ำใต้ดิน ดังนั้นหลุมจึงลึกมาก และเดาว่า เมื่อโยนเหยื่อลงไปในบ่อก็จะจมหายลง และถูกกระแสน้ำใต้ดินพัดพาไปที่อื่น คนสมัยนั้นจึงเข้าใจว่าเทพเจ้าได้รับเอาร่างของเด็กน้อย ผู้เป็นเครื่องสังเวยไปเรียบร้อยแล้ว

เรื่องราวความน่าสนใจของอารยธรรมเก่าแก่ในเม็กซิโก ยังมีมุมอื่นๆ ให้ได้เรียนรู้กันต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า ความเชื่อและศรัทธาในเทพเจ้า คือปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนสังคมในยุคนั้น ที่ทำให้พวกเขากล้าเอาชนะกฎเกณฑ์ธรรมชาติได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เรียนรู้ว่า ความศรัทธาและความเชื่อในเทพเจ้าของพวกเขาก็แฝงไปด้วยกลิ่นคาวเลือด และซากศพของเหยื่อที่ถูกบูชายัญ อยู่ภายใต้พีระมิดที่ยิ่งใหญ่และน่าเกรงขามเหล่านั้น