posttoday

เดนมาร์ก สายลมสร้างเศรษฐกิจ

27 สิงหาคม 2559

“เดนมาร์ก” เป็นประเทศที่มีประชากรราว 5 ล้านกว่าคน มีชื่อเสียงและความโดดเด่นในฐานะเป็นชาติแรก

โดย...ทีมงานโลก 360 องศา [email protected]

“เดนมาร์ก” เป็นประเทศที่มีประชากรราว 5 ล้านกว่าคน มีชื่อเสียงและความโดดเด่นในฐานะเป็นชาติแรกที่คิดค้นการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการวิจัยพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมอย่างต่อเนื่อง และสัดส่วนของไฟฟ้าที่ผลิตในเดนมาร์กซึ่งผลิตจากกังหันลมก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลของประเทศนี้ยังได้ประกาศว่า ในปี 2050 เดนมาร์กจะเป็นประเทศที่ใช้ไฟฟ้าซึ่งผลิตจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable energy ถึง 100% นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ทีมงานรายการโลก 360 องศา เดินทางไปยัง Middelgrunden Offshore Wind Farm ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมของเดนมาร์กให้ศึกษา

Middelgrunden Offshore Wind Farm เป็นฟาร์มกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ตั้งอยู่กลางทะเล ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ตั้งอยู่ห่างจากกรุงโคเปนเฮเกนออกไปราว 3.5กม. โดยมีกังหันลมผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 20 ต้น มีกำลังการผลิตต้นละ 2 เมกะวัตต์ รวม 40 เมกะวัตต์ เมื่อแรกก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2000 นั้น Middelgrunden Offshore Wind Farm เป็นฟาร์มกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ตั้งอยู่กลางทะเลซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเลยทีเดียว

เดนมาร์ก สายลมสร้างเศรษฐกิจ Wind Turbine เรียงรายอยู่กลางทะเล

 

การผลิตไฟฟ้าของเดนมาร์กนั้น มีแหล่งที่มาจากทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนซึ่งส่วนใหญ่ใช้ถ่านหิน และยังมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าร่วมกับไอน้ำ ใช้ขยะและชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงอีกส่วนหนึ่งมาจากกังหันลม และโซลาร์เซลล์โดยกังหันลมซึ่งมีอยู่กว่า 5,000 ต้นนั้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 40% คิดเป็นสัดส่วนที่นับว่าสูงที่สุดในโลก แต่เหตุผลที่รัฐบาลเดนมาร์กตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าในปี 2050 ประเทศเดนมาร์กจะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน หรือRenewable Energy ได้ 100% นั้น ไม่ได้หมายถึงการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศเดนมาร์กแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีปัจจัยสนับสนุน นั่นคือความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านด้านพลังงาน เมื่อเดนมาร์กสามารถผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมได้ในจำนวนมากเกินความต้องการ ก็จะส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างนอร์เวย์หรือสวีเดน ขณะเดียวกันในช่วงที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมได้ เดนมาร์กก็พึ่งพาไฟฟ้าที่ส่งมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างนอร์เวย์ซึ่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ด้วยเหตุผลดังกล่าวเป้าหมายที่จะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy ได้ 100% ของเดนมาร์กจึงมีความเป็นไปได้สูง

ในส่วนของประเทศไทยนั้น รัตนชัย นามวงศ์รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการตั้งเป้าในการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนว่าประเทศไทยก็ให้ความสำคัญด้านพลังงานหมุนเวียน โดยมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) จากปัจจุบันมีพลังงานหมุนเวียนอยู่ประมาณ 8% มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าเมื่อสิ้นปี 2579 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า จะมีพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 20% โดยจะมาจากทั้งพลังงานชีวมวล  ชีวภาพ ขยะ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่เน้นให้ทุกคนมีไฟฟ้าใช้ในราคาไม่แพง ขณะเดียวกันก็ต้องมีไฟฟ้าที่มีความมั่นคงตลอด 24 ชั่วโมงด้วย

เดนมาร์ก สายลมสร้างเศรษฐกิจ ปีนขึ้นสู่ชั้นบนสุดของกังหันลมผลิตไฟฟ้า

 

แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในประเทศไทยนั้น ยังคงมีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นพลังงานจากธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ไม่มีความเสถียรเพียงพอที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอดเวลา ดังนั้น กฟผ.จึงได้ทำการศึกษาโดยนำพลังงานไฟฟ้าจากหลายช่องทางมาเชื่อมต่อทำให้ระบบการใช้พลังงานทางเลือกใช้ได้นานยิ่งขึ้น  กล่าวคือ ใช้แสงอาทิตย์ในช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นใช้พลังงานชีวมวลมาช่วยทำงานต่อ และในช่วงกลางคืนที่มีลมพัดแรงก็เก็บพลังงานลมไว้ ในแหล่งกักเก็บพลังงาน ที่เรียกว่า Energy Storage

นอกจากนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าลำตะคอง ซึ่งนับเป็นโรงไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีโรงไฟไฟ้าอยู่ใต้ดิน เป็นตัวอย่างของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเเบบสูบกลับ โดยในเวลากลางคืนจะสูบน้ำไปเก็บไว้บนอ่าง กลางวันก็จะปล่อยน้ำลงมาที่โรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้า นอกจากนั้น ในบริเวณนี้ยังมีโรงไฟฟ้ากังหันลมอยู่อีก 2 ตัว และมีโครงการที่กำลังจะติดตั้ง โรงไฟฟ้ากังหันลมเพิ่มอีก 12 ตัวในเวลาอันใกล้นี้  ลักษณะของโครงการนี้จะทำให้ด้านบนเป็นอ่างสูบน้ำที่เข้าสูบน้ำเก็บไว้ใช้ ถ้ามองไปจะเห็นอ่างเก็บน้ำ และมองเห็นทุ่งกังหันลมของ กฟผ. 12 ตัว หากขับรถลงไปอีกจะพบศูนย์เรียนรู้ซึ่ง กฟผ.กำลังดำเนินการก่อสร้าง และจ่ายไฟที่ผลิตจากกังหันลมเข้าที่ศูนย์เรียนรู้ตลอดเวลา โดย กฟผ.คาดว่าจะทำให้ศูนย์เรียนรู้นี้เป็นโรงไฟฟ้าท่องเที่ยวซึ่งจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปเรียนรู้การใช้พลังงานหมุนเวียนเชื่อมต่อ ในขณะเดียวกันการใช้โรงไฟฟ้ากังหันลมเชื่อมต่อกับตัวไฮโดรเจนเซลล์เชื้อเพลิงของที่นี่จะเป็นแห่งแรกของเอเชีย นับเป็นนวัตกรรมและเป็นความพยายามในการพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น

ในขณะที่เดนมาร์กมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม รวมถึงมีนวัตกรรมและองค์ความรู้ในด้านนี้ที่ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ ในทางกลับกันประเทศไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในด้านนี้อยู่อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็คงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศเป็นหลักสำคัญ ทั้งนี้ก็เพื่อความสุขของคนไทย ในการที่จะมีไฟฟ้าใช้ได้อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพต่อไปในอนาคต ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจนี้ได้ในรายการโลก 360 องศา คืนวันเสาร์ 21.20 น. ททบ. 5

เดนมาร์ก สายลมสร้างเศรษฐกิจ อธิบายกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม

 

เดนมาร์ก สายลมสร้างเศรษฐกิจ รัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ.